8 ปี นายกฯ สะดุด ปมไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน

21 ต.ค. 2564 | 11:44 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ต.ค. 2564 | 18:49 น.
6.2 k

8 ปี นายกฯสะดุด ปมไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน : รายงาน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,724 หน้า 12 วันที่ 21 - 23 ตุลาคม 2564

ปมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ของ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังกลายเป็นประเด็นให้ “พรรคเพื่อไทย” ใช้เป็นช่องทางสกัดการเป็น “นายกฯ สมัยที่ 3” โดยเตรียมยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในอนาคต ว่า ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 170 หรือไม่ 

 

แม้นายกฯ จะมอบหมายให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ไปดูข้อกฎหมายเกี่ยวกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ  

 

“ยังไม่มีคำตอบ นายกฯ มอบหมายให้ไปดูเรื่องนี้แล้ว แต่ยังไม่ได้ดูและยังไม่ต้องทำอะไรในเวลานี้ เพราะนายกฯ ยังไม่กำหนดให้แจ้งผลการศึกษาเวลาใด หากจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ก็มีโอกาสยื่นได้ก่อนเดือน ส.ค. 2565 แต่ไม่ใช่ยื่น ตอนนี้” นายวิษณุ ระบุ

 

ปมที่ทำให้เกิดความสงสัยว่า “พล.อ.ประยุทธ์” จะ “ไปต่อ” ในตำแหน่งนายกฯ สมัยที่ 3 ได้หรือไม่ หากอยู่ครบเทอม 4 ปี บนเก้าอี้นายกฯสมัย 2 

 

ก็เพราะตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ระบุไว้ว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง” 

 

ในมุมของ “ฝ่ายค้าน” เห็นว่าหากนับการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ 24 ส.ค. 2557 จะครบ 8 ปี ในปี 2565 และเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี นั้น บุคคลดังกล่าวจะมิได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ติดต่อกันก็ตาม แต่หากรวมระยะเวลาทั้งหมดที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ของบุคคลดังกล่าวแล้วเกิน 8 ปี ก็ต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ

 

การกำหนดระยะเวลา 8 ปีไว้ ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไป อันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤติทางการเมืองได้

 

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่อาจจะทำให้การดำรงตำแหน่ง “นายกฯ สมัยที่ 3” ของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้อง “สะดุด-หยุดลง” ได้หรือไม่ อันเนื่องมาจาก “ปมการยื่นบัญชีทรัพย์” ต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องยื่นโดยมีเรื่องของการดำรงตำแหน่งต่อเนื่องเข้ามาเกี่ยวข้อง 

 

อันเป็นไปตามมาตรา 105 ของพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปราบปรามการทุจริต ปี 2561 ที่ระบุว่า หากเป็นการพ้นจากตำแหน่งและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเดิม หรือตำแหน่งใหม่ภายในเวลา 1 เดือน บุคคลนั้นไม่จำเป็นต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินกรณีพ้นตำแหน่ง หรือรับตำแหน่งใหม่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ ไม่อยู่ในข่ายต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินในครั้งนี้

 

เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2562 นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวถึงขั้นตอนการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และหนี้สินของคณะรัฐมนตรี ว่า หากเป็นรัฐมนตรีเดิมที่เคยได้รับการแต่งตั้งต่อเนื่องให้เป็นรัฐมนตรีใหม่ ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินตามกฎหมายใหม่ของ ป.ป.ช. เพราะจะยึดจากการยื่นบัญชีในครั้งแรกที่เข้ารับตำแหน่ง 

 

8 ปี นายกฯ สะดุด  ปมไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน

 

ส่วนกรณีที่มีรัฐมนตรีย้ายหรือปรับเปลี่ยนกระทรวงในคราวนี้ เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้ไปดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหมอีกตำแหน่งหนึ่งนั้นต้องยื่นหรือไม่ นายวรวิทย์ กล่าวว่า นายกฯ ไม่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน แม้ว่าจะมีตำแหน่งเพิ่มเติมเพราะเป็นการปรับตำแหน่งในระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน หลังพ้นจากตำแหน่งเดิม

 

ต่อมาเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการป.ป.ช. และโฆษก ป.ป.ช.ในขณะนั้น กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคม การบริหาราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย เห็นสมควรให้ ป.ป.ช. เปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน พล.อ. ประยุทธ์ หลังจากก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.ไม่ยอมเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินดังกล่าวว่า ต้องพิจารณาข้อกฎหมายที่คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารฯ ขอให้ ป.ป.ช.เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินนั้น เป็นการยึดกฎหมายฉบับใด มีกฎหมาย ป.ป.ช.รองรับหรือไม่ ถ้า ป.ป.ช.ไปเปิดเผยโดยไม่มีข้อกฎหมายใดรองรับ พล.อ.ประยุทธ์ อาจฟ้อง ป.ป.ช.ผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ได้ว่า ไม่มีอำนาจเปิดเผยแต่กลับนำไปเปิดเผย พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารจะคุ้มครองและรับผิดชอบแทน ป.ป.ช.อย่างไร

 

 

นายนิวัติไชย กล่าวว่า กรณี พล.อ.ประยุทธ์ นั้น ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 105 มีเงื่อนไขว่า กรณียื่นบัญชีทรัพย์สิน ถ้าผู้ยื่นพ้นจากตำแหน่งและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใหม่ภายใน 1 เดือน ผู้นั้นไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินกรณีเข้ารับตำแหน่งใหม่ แต่ไม่ห้ามหากผู้นั้นจะยื่นบัญชีทรัพย์สินไว้เป็นหลักฐาน พล.อ.ประยุทธ์ เคยพ้นจากตำแหน่งนายกฯ และเข้ารับตำแหน่งนายกฯ หลังเลือกตั้งในช่วงเวลา 1 เดือน จึงไม่เข้าข่ายต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินรอบ ใหม่ แต่หาก พล.อ.ประยุทธ์ ยื่นมาจะถือเป็นการยื่นเพื่อข้อมูลหลักฐานตามมาตรา 105 ถือเป็นข้อมูลส่วนตัวที่ ป.ป.ช.จะเก็บข้อมูลไว้เท่านั้น แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ 

 

ขณะที่เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2564  พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะกรรมการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสารวินิจฉัยให้ ป.ป.ช.เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของนายกรัฐมนตรี กรณีเข้ารับตำแหน่งเมื่อต้นปี 2562 ว่า ไม่เคยปิดบังเลยมีการชี้แจงทุกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ตามกฎหมาย ป.ป.ช.ถ้าพ้นวาระไม่เกิน 1 เดือน ไม่ต้องเปิดบัญชีทรัพย์สิน แต่ตนก็ส่งไปแล้ว ถ้าถึงเวลาจำเป็นก็ขึ้นอยู่กับป.ป.ช. 

 

...ประเด็นการไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินของ พล.อ.ประยุทธ์ หากมีการตีความว่าเป็นเพราะมีการดำรงตำแหน่งนายกฯ เลยไม่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินใหม่ จะเป็นปมที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไปต่อไม่ได้บนตำแหน่งนายกฯ สมัย 3 หรือเมื่อครบ 8 ปี ในวันที่ 23 ส.ค. 2565 หรือไม่ ต้องรอผู้เกี่ยวข้องคือ “ศาลรัฐธรรมนู” เป็นผู้ให้คำตอบต่อไป 

 

3 แนวทางนายกฯ 8 ปีของบิ๊กตู่

 

1. เริ่มนับวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้คือ 6 เม.ย. 2560 จะพ้นตำแหน่งในวันที่ 5 เม.ย. 2568 แต่ถ้าอยู่ครบเทอม 4 ปี ในปี 2566 สามารถเป็นนายกฯ ในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้อีก 2 ปี

 

2.นับตั้งแต่ 9 มิ.ย. 2562 วันมีการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกฯ  พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกฯ ต่อเนื่องได้จนถึง 8 ปี ในวันที่ 8 มิ.ย. 2570 หรือเป็นนายกฯ ได้ 2 วาระเต็ม 

 

3. นับตั้งแต่ 24 ส.ค. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 จะทำให้เหลือเวลาการเป็นนายกฯ เพียง 1 ปี โดยจะพ้นนายกฯ ในวันที่ 23 ส.ค. 2565 ครบ 8 ปี(แต่งตั้งนายกฯ เมื่อ 24 ส.ค. 2557)