วิบากกรรม "พรรคเพื่อไทย" ท้าทายยุบพรรค

19 ต.ค. 2564 | 18:34 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ต.ค. 2564 | 01:34 น.
776

วิบากกรรม‘เพื่อไทย’ ท้าทาย‘ยุบพรรค’ : รายงาน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,724 หน้า 10 วันที่ 21 - 23 ตุลาคม 2564

กลายเป็นอีกกรณีที่ทำให้ “เสี่ยง” ต่อการถูกร้อง “ยุบพรรค” สำหรับพรรคเพื่อไทย

 

เมื่อปรากฏว่า เกิดกรณีคลิป นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ วิดีโอคอลมาพูดคุยถึง “แคนดิเดตนายกฯ” ของพรรคเพื่อไทยกลางงานเลี้ยงวันเกิดของ นายเกรียง กัลป์ตินันท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่บ้านของ นายพงศักดิ์ รัตนพงไพศาล อดีตรมว.พลังงาน ซึ่งเป็นเจ้าภาพฉลองวันเกิดให้ นายเกรียง โดยมี ส.ส. และ ผู้บริหารพรรคเพื่อไทยเข้าร่วมจำนวนมาก เมื่อเร็วๆ นี้ 

 

ในงานดังกล่าว นายทักษิณ ได้วิดีโอคอลเข้ามาพูดคุยกับ ส.ส.ของพรรคซึ่ง นายเกรียง ได้ถามนายทักษิณ ถึงความเป็นไปได้ในการให้ คุณหญิงพจมานดามาพงศ์ อดีตภริยา มาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เพื่อสู้ศึกเลือกตั้งครั้งต่อไป เพราะหาก คุณหญิงพจมาน มารับตำแหน่ง เชื่อว่าจะเป็นแม่เหล็ก ลูกน้องเก่าๆ จะกลับมาทั้งหมด

 

เมื่อ นายทักษิณ ได้ฟังคำถามก็มีอมยิ้มก่อนตอบว่า “คุณหญิงพจมานเป็นคนไม่ชอบการเมืองที่สุด แต่ที่ผ่านมาตกกระไดพลอยโจน”

 

นายทักษิณยังระบุว่า “คุณหญิงอาจจะอายุมากไปนะ และถ้าไม่จำเป็นอย่างยิ่งยวด คุณหญิงจะไม่ขอลงการ เมือง เพราะไม่ชอบ สองปราศรัยไม่ถนัดไม่ถนัดที่จะพูดต่อหน้าคนเยอะๆ เป็นคนนั่งเป็นประธานในที่ประชุมได้ แต่ว่าไปขึ้นปราศรัย ขึ้นเวทีทักทายประชาชนทำไม่เป็น” 

 

ขณะที่ในช่วงหนึ่ง นายทักษิณ กล่าวว่า “ผมมีหลายแนวทาง รับรองว่าแต่ละแนวทางเนี่ย ส.ส.ที่คิดจะออก รับตังค์เขามาแล้ว ต้องเอาตังค์ไปคืน เที่ยวนี้ต้องชนะwแลนด์สไลด์ เพราะว่าชนะธรรมดา มันไม่ให้เป็นรัฐบาลหรอก ถ้าแลนด์สไลด์มันไม่กล้าเwป็นรัฐบาล ต้องเอาแลนด์สไลด์ชนิดที่ไม่กล้าเป็นรัฐบาล”

 

ต่อมา นายเกรียง ยังออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “คุณหญิงพจมาน สามารถเป็นศูนย์กลางของพรรคได้ หากมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ จะสามารถดึงดูดบุคลากรของพรรคไทยรักไทยที่กระจัด กระจายอยู่ตามพรรคต่างๆ หรือหยุดเล่นการเมือง จะกลับมาฟื้นฟูประเทศของเราให้ฟื้นฟูวิกฤติิครั้งนี้ได้” 

 

จากกรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้นักร้อง อย่าง เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เตรียมรวบรวมหลักฐานและข้อเท็จจริงเพื่อร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.​) ให้ตรวจสอบนำไปสู่การ “ยุบพรรค”  เนื่องจากมองว่า นายทักษิณ มีพฤติกรรมเข้าข่ายขัดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการ เมือง ที่ควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคเพื่อไทย  เนื่องจากนายทักษิณ ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย เพราะไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้ต้องโทษหนีคดี  

 

วิบากกรรม \"พรรคเพื่อไทย\" ท้าทายยุบพรรค

 

 

จากคลิปที่ปรากฏภายในงาน ยังมีกรรมการบริหารพรรค นำโดย นายสมพงษ์​ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นต้น ร่วมอยู่ด้วย แม้นายเกรียงจะระบุว่าเป็นงายเลี้ยงสังสรรค์ ไม่ใช่การประชุม แต่ภาพที่ปรากฏนั้น มีความชัดเจนอย่างยิ่ง

 

นอกจากทำผิดพ.ร.ป.พรรค การเมืองแล้ว อาจเข้าข่ายกระทำการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตด้วย เพราะ ส.ส.คือเจ้าพนักงานตามกฎหมายและต้องปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจที่ไม่ขัดกับกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ

 

ทั้งนี้ ตามพ.ร.ป.พรรคการเมืองพ.ศ. 2560 มาตรา 28 ระบุว่า ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทําการใดอันทําให้บุคคลอื่น ซึ่งมิใช่สมาชิกกระทําการอันเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํา กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

 

ส่วน มาตรา 29 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกกระทําการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํา กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

 

ด้านท่าที่ของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อกรณีดังกล่าว พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ระบุว่า เรื่องดังกล่าวต้องดูข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายซึ่งทางสำนักงาน กกต. คงอยู่ระหว่างเก็บรวบรวมข้อมูลในเรื่องดังกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงาน กกต. ให้ความเห็นว่า หากมีการนำกรณีดังกล่าวร้องต่อ กกต. ต้องตรวจสอบตามขั้นตอนกฎหมาย ซึ่งในการตรวจสอบข้อเท็จจริงชั้นต้นนายทะเบียนพรรคการเมือง หรือ เลขาธิการกกต. เป็นผู้ตรวจสอบ

 

ส่วน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มองกรณีครอบงำพรรคว่า เคยมีการวินิจฉัยไว้แล้วว่า การครอบงำคือ การใช้อิทธิพลโดยที่ตัวเองไม่มีส่วนได้เสีย ไม่ได้เป็นสมาชิก และไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค แล้วไปชี้นำให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม ส่วนเรื่องนี้จะเข้าข่ายครอบงำหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ และเห็นว่าการพูดคุยผ่านระบบออนไลน์ไม่เข้าข่ายครอบงำพรรค เป็นการพูดคุยธรรมดาโยนหินถามทาง หยั่งเสียง 

 

นอกจากกรณีดังกล่าวแล้ว ยังมีเรื่องที่สุ่มเสียงนำไปสู่การ “ยุบพรรคเพื่อไทย” นั่งคือ กรณีเมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2564 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ได้ยื่นหนังสือถึง กกต.  ขอให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ายุบพรรคเพื่อไทยหรือไม่ 

 

สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2564 นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้มีหนังสือขอให้ส.ส.ของพรรคทุกคนปฏิบัติตามมติของพรรคในการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล หากส.ส.ของพรรคคนใดฝ่าฝืนไม่มาประชุมเพื่อลงมติ หรือลงมติที่ผิดไปจากนโยบายของพรรค ถือว่าสมาชิกผู้นั้นกระทำการอันเป็นการผิดวินัยและจริยธรรมของการเป็นสมาชิกพรรคอย่างร้ายแรงซึ่งมีโทษถึงขั้นให้พ้นจากสมาชิก

 

การออกหนังสือดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการกระทำที่อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 124 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมวุฒิสภา หรือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาสมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใดในทางแถลงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็นหรือออกเสียงลงคะแนน ย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใดๆ มิได้

 

ขณะเดียวกัน กรณีพรรคเพื่อไทยลงมติขับ ส.ส. 2 คน พ้นพรรค คือ นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ และ น.ส.พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานีก็ถูกมองว่า เพราะไม่เป็นไปตามหนังสือที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทยลงนาม เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2564 

 

การขับ ส.ส. 2 คน มีเหตุจากข้อความในหนังสือดังกล่าว จึงอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 114 และ มาตรา 124 การกระทำดังกล่าว หากขัดรัฐธรรมนูญ จะส่งผลให้เข้าข่ายฝ่าฝืน พรป.พรรคการเมือง มาตรา 92 หรือไม่ 

 

“เพื่อไทย” มีหลายวิบากกรรมแต่จะนำไปสู่การ “ยุบพรรค” ได้หรือไม่ต้องติดตามต่อไป...