"นิพนธ์"หนุน​ พล.อ.ณัฐพล ​ แก้โควิดจังหวัดชายแดนภาคใต้​

19 ต.ค. 2564 | 09:09 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ต.ค. 2564 | 17:00 น.

"นิพนธ์"หนุน​ พล.อ.ณัฐพล เป็น ผอ.ศบค.ส่วนหน้าแก้โควิดจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชี้ทุกฝ่ายต้องบูรณาการงานร่วมกัน เพราะเป็นพื้นที่พิเศษ


วันที่ 19 ตุลาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล​ นายนิพนธ์​ บุญญามณี​ รมช.มหาดไทย​ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นายศุภชัย​ ใจสมุทร​ ส.ส.บัญชีรายชื่อ​ พรรคภูมิใจไทย​ คัดค้านการให้ พล.อ.ณัฐพล​ นาคพาณิชย์​ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี​ ซึ่งเป็นทหารมาเป็นผู้อำนวยการศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศบค.ส่วนหน้า​ ว่า​ ความเห็นส่วนตัวของตน คิดว่าการแก้ปัญหาโควิด-19​ ในพื้นที่ภาคใต้ ทุกฝ่ายต้องพูดคุยกันอย่างใกล้ชิด บูรณาการงานร่วมกันให้ได้ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ที่สำคัญคือการทำความเข้าใจกับประชาชน เนื่องจากขณะนี้ประชาชนบางส่วนคิดว่าวัคซีนไม่มีความจำเป็น ดังนั้น เราต้องทำความเข้าใจกับคนกลุ่มนี้ให้ได้ และภาครัฐเองต้องพร้อมที่จะส่งวัคซีนลงไปให้ทันต่อความต้องการ เชื่อว่าวัคซีนมีจำนวนเพียงพอในการที่จะจัดสรรลงไป แต่ต้องกระจายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และให้เร็วที่สุด

นายนิพนธ์​ บุญญามณี​ รมช.มหาดไทย

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีเสียงคัดค้านการให้ทหารเป็นผู้รับผิดชอบในการแก้ปัญหา​ เพราะอยากให้แพทย์เป็นผู้รับผิดชอบมากกว่า นายนิพนธ์ กล่าวว่า การบูรณาการงานของทุกฝ่ายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพื้นที่ภาคใต้ เพราะยังมีคนออกนอกบ้านในเวลาเคอร์ฟิวอยู่ นั่นสะท้อนให้เห็นว่าเรายังมีช่องว่างในการบังคับใช้กฎหมาย ดังนั้น การจะทำให้ทุกคนเคารพระเบียบเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อสร้างวินัย จึงมองว่าเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายปกครอง สาธารณสุข และฝ่ายๆ อื่น โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงที่ดูแลพื้นที่อยู่ต้องร่วมมือกัน​ เพราะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่พิเศษอยู่แล้ว

 

เมื่อถามว่า ส่วนตัวมองว่า​ พล.อ.ณัฐพล จะเอาอยู่หรือไม่ นายนิพนธ์​ กล่าวว่า ส่วนตัวตนคิดว่าท่านมีประสบการณ์ แต่ทั้งหมดนี้อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด ยังเป็นกลไกหลักที่จะต้องทำงานเข้มแข็ง

พล.อ.ณัฐพล​ นาคพาณิชย์​

 

 ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คำสั่งนายกรัฐมนตรี แต่งตั้ง พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เป็นที่ปรึกษา ศปก.ศบค. เพิ่มเติมองค์ประกอบของศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19  เพื่อให้การดำเนินงานของ ศปก.ศบค. ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


ต่อมาเมื่อวันที่ 18 ต.ค. หลังมีคำสั่งนายกฯดังกล่าว นายศุภชัย ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า เรื่องโควิด ต้องให้หมอนำ พร้อมระบุข้อความบางตอนว่า 
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสร่วมคณะไปสี่จังหวัดภาคใต้ คือ สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณาสุข โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงร่วมด้วย เนื่องจากสถานการณ์โควิดค่อนข้างตึงเครียด ซึ่งรอบนี้สาธารณสุขได้นำวัคซีนไฟเซอร์จำนวนหนึ่งล้านโดสไปเพื่อฉีดได้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมครบถ้วน และจากการติดตามการร่วมกันทำงานของหน่วยงานในพื้นที่พบว่าเป็นไปอย่างดียิ่ง พูดได้ว่าเอาอยู่อย่างแน่นอนในไม่ช้า

 

แต่พอกลับมาแค่สองวัน ล่าสุด ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมีคำสั่งจัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์) เป็นผู้อำนวยการศูนย์ เพื่อแก้ไขการระบาดของโรคในพื้นที่ปลายด้ามขวาน แล้วให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รวมไปถึงปลัดกระทรวงอื่นๆ ไปจนถึงผู้ว่าราชการในจังหวัดที่เกี่ยวข้องไปเป็น "ลูกมือ" ของท่าน

 

แต่หัวโต๊ะ ผู้มีอำนาจสูงสุดคือ "นายทหาร" ยศพลเอก ต้องขอบคุณกับเจตนาดีในการกระชับอำนาจ เพื่อให้ท่านมีความคล่องตัวในการบริหารงาน

ประเด็นคือ นี่ท่านกำลังเอาโมเดล "ความมั่นคงต้องมาก่อน" มาใช้กับเรื่องสาธารณสุข ซึ่งผมเห็นว่ามันไม่เหมาะสม เป็นการนำเอา "การทหารนำการสาธารณสุข" สอดรับกับแนวทาง "การทหารนำการเมือง" ที่ท่านนำมาใช้ในการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้