คลังรับลูก”นายก”สั่งแบงก์รัฐพักหนี้/เพิ่มสินเชื่อ ผู้เดือดร้อนน้ำท่วม 64

16 ต.ค. 2564 | 14:17 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ต.ค. 2564 | 21:24 น.

โฆษกรัฐบาล เผย คลังเดินหน้าข้อสั่งการ”นายก”เปิดมาตรการแบงก์ของรัฐ พักหนี้/เพิ่มสินเชื่อ ช่วยเหลือประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ SMEs ที่รับความเดือดร้อนภัยน้ำท่วม 64

วันนี้ 16 ต.ค. 64 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วม สั่งการให้ทุกหน่วยงานให้ความช่วยเหลือในทุกด้านเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการให้มากที่สุด โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย บริษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้จัดทำมาตรการพักชำระหนี้และสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนและผู้ประกอบการผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

คลังรับลูก”นายก”สั่งแบงก์รัฐพักหนี้/เพิ่มสินเชื่อ ผู้เดือดร้อนน้ำท่วม 64

ซึ่งแต่ละธนาคารได้จัดทำรายละเอียดและเงื่อนไขที่น่าสนใจแตกต่างกัน อาทิารพักชำระหนี้สูงสุด 1 ปี สนับสนุนวงเงินกู้สินเชื่อเพิ่มเติม ดอกเบี้ย 0% นาน 3 เดือน สูงถึง 1 ปี เป็นต้น ดังนี้ 1. ธนาคารออมสิน - มาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยนาน 3 เดือน ยื่นคำขอเข้าร่วมได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 /มาตรการสนับสนุนสินเชื่อฉุกเฉิน สินเชื่อสำหรับลูกค้ารายย่อย สินเชื่อเคหะ สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 2. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร -มาตรการพักชำระหนี้ไม่เกิน 12 เดือน และไม่คิดดอกเบี้ยปรับ/ มาตรการสนับสนุนสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน และระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 3 ปี 3. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ - สำหรับลูกค้าเดิมที่หลักประกันได้รับความเสียหาย สามารถขอรับการลดดอกเบี้ยเหลือ 0%ต่อปี เป็นระยะเวลา 4 เดือน ลูกหนี้เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร หลักประกันเสียหายทั้งหลังไม่สามารถซ่อมแซมได้ สามารถขอรับปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินคงเหลือเท่านั้น เป็นต้น

4. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย – มาตรการพักชำระหนี้ สำหรับลูกค้าที่มีการกู้ยืมแบบมีระยะเวลา (Term Loan) จะได้รับการพักชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 3 เดือน /มาตรการสินเชื่อฉุกเฉิน อัตราดอกเบี้ย 4.99% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา ระยะเวลากู้สูงสุด ไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี เป็นต้น 5. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย – มาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยการพักชำระหนี้เงินต้น ชำระเฉพาะกำไรเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน และให้ขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไป ไม่เกินระยะเวลาที่พักชำระ และยกเว้นค่าชดเชยผิดนัดชำระ (Late charge) โดยสามารถยื่นคำขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564 6. บริษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) - มาตรการช่วยเหลือลูกค้า SMEs สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นลูกค้าของ บสย. มาตรการลดค่างวด โดยการผ่อนจ่าย 20% หรือจ่ายขั้นต่ำ 500 บาท สูงสุด 3 เดือน มาตรการพักชำระหนี้ สำหรับลูกค้า บสย. ที่ค้างชำระหนี้ไม่เกิน 3 เดือน โดยการพักชำระหนี้สูงสุด 3 เดือน และพักดอกเบี้ยเกิดใหม่ ยื่นคำขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564 เป็นต้น

ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ธนาคารแต่ละแห่ง “มาตรการความช่วยเหลือดังกล่าวเป็นมาตรการด้านการเงินตามการสั่งการของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ต้องการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปี 64 ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ลูกค้า ทำให้มีเงินหมุนเวียน ช่วยฟื้นฟูกิจการ รวมถึงปรับปรุงและซ่อมแซมอาคาร เพื่อให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพ และใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยทุกมาตรการให้เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงการคลัง ยืนยันว่ารัฐบาลมีความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุกคน” นายธนกรกล่าว