“วัชระ”จี้เร่งสอบ“สมศักดิ์ เทพสุทิน”จัดปาร์ตี้สงกรานต์ทำโควิดระบาดหนัก

01 ต.ค. 2564 | 18:19 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ต.ค. 2564 | 01:30 น.

“วัชระ”ร้อง “ชวน-พรพิศ”เร่งสอบ “สมศักดิ์ เทพสุทิน”จัดปาร์ตี้สงกรานต์ทำโควิด-19 ระบาดหนัก วอนอย่าประวิงเวลาอ้างเรื่องหยุมหยิมจนเสียงานใหญ่

วันนี้ (1ต.ค.64) ที่อาคารรัฐสภา นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นหนังสือผ่านเจ้าหน้าที่งานสารบรรณถึงนายชวน หลีกภัย ในฐานะประธานคณะกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร และ นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พร้อมจัดส่งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และขอถอนเรื่องร้องเรียนเฉพาะของ นายชูศักดิ์ คีรีมาศทอง ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ

 

นายวัชระ กล่าวว่า ตนได้ยื่นเรื่องร้องเรียนขอให้สอบสวนจริยธรรมร้ายแรง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และส.ส.พรรคพลังประชารัฐ จากกรณีเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2564 เวลาประมาณ 19.00 น. นายสมศักดิ์ และคณะได้เดินทางไปที่ร้านคาเฟ่ เดอ ทรี อ.เมือง จ.สุโขทัย ร่วมกิจกรรมชุมนุมคน มีการจัดรดน้ำตามประเพณีสงกรานต์ และงานเลี้ยงสังสรรค์ ร้องเพลงคาราโอเกะ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยไม่ใส่หน้ากากอนามัย มีผู้ร่วมงานทั้งสิ้นประมาณ 21 คน

 

อันเป็นการกระทำผิดกฎหมายหลายฉบับ เป็นการร่วมชุมนุมฝ่าฝืนพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ 2548 มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ผิดพรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งในสถานการณ์โควิด-19 ของนายกรัฐมนตรี และจังหวัดสุโขทัย กระทบกระเทือนต่อจิตใจของประชาชนที่เคารพกฎหมายทั้งประเทศ

ทั้งที่ นายสมศักดิ์ มีตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ควรต้องเป็นแบบอย่างที่ดีของประชาชน เพราะอยู่ในช่วงของการแพร่ระบาดโรคระลอกที่ 3 แต่ยังบังอาจฝ่าฝืนคำสั่งนายกรัฐมนตรี และกฎหมาย อันเป็นความผิดอาญาและมาตรฐานทางจริยธรรม ผลของการจัดงานดังกล่าวทำให้ผู้ร่วมงานติดโรคโควิด-19 จำนวน 21 คน และแพร่ไปทั่วจังหวัดสุโขทัย จำนวน 55 คน มีผู้เสียชีวิตถึง 3 คน

 

หลังจากร้องเรียนไปแล้ว ต่อมาสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้มีหนังสือที่ สผ 0001/10675 ถึง นายวัชระ ลงวันที่ 23 กันยายน 2564 และได้รับเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 รวมเวลานับจากวันที่ส่งหนังสือและได้รับจดหมายเป็นเวลานานถึง 43 วัน แจ้งว่า ขอให้ส่งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อยืนยันตัวตน ทั้งที่จริงสามารถโทรศัพท์แจ้งให้ทราบก็ได้ เพราะเป็นกรณีเร่งด่วนและจริยธรรมร้ายแรง ซึ่งข้อบังคับได้กำหนดการสอบสวนจริยธรรมให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่ได้รับเรื่องร้องเรียน มีลักษณะเป็นการประวิงเวลาการสอบจริยธรรม นายสมศักดิ์ อย่างเห็นได้ชัด

ดังนั้น จึงขอให้ดำเนินการตามข้อบังคับอย่างเคร่งครัด สอบสวนให้แล้วเสร็จโดยเร็วตามกฎหมาย ขออย่าประวิงเวลาใด ๆ อีกเพราะไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐนิติธรรม และขอให้เห็นใจดวงวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้วด้วยโรคโควิด-19 จากการไปร่วมกิจกรรมกับนายสมศักดิ์ ด้วย

 

ส่วนสาเหตุที่ นายวัชระ ถอนเรื่องร้องเรียนนายชูศักดิ์ นั้น เนื่องจากเป็นส.ส.สมัยแรก แตกต่างจาก นายสมศักดิ์ ที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นอดีตรัฐมนตรี 8 สมัย และปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ ส.ส. ย่อมทราบข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 และประมวลจริยธรรมอื่นที่บังคับใช้อยู่เป็นอย่างดี