“ไทยสร้างไทย”เปิดข้อมูลประเทศฟื้นตัวโควิดเร็วไทยอันดับ 118 จาก 121 ประเทศ

22 ก.ย. 2564 | 19:34 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ย. 2564 | 02:39 น.

“ไทยสร้างไทย”เปิดข้อมูลอันดับประเทศฟื้นตัวโควิดเร็วสุด พบไทยอันดับ 118 จาก 121 ประเทศทั่วโลก แม้อัตราฉีดวัคซีนเทียบสหรัฐ-อังกฤษ แต่อัตราการเสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อไม่ลด จี้รัฐบูรณาการทุกฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลแก้ปัญหา

นายธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ดิจิทัลเพื่อสร้างพลังประชาชน พรรคไทยสร้างไทย เปิดเผยว่าจากข้อมูลจาก Nikkei เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2564 ได้จัดอันดับประเทศที่ฟื้นตัวเร็วที่สุดและช้าที่สุดจากสถานการณ์โควิด พบว่าประเทศที่จะฟื้นตัวได้เร็วที่สุดอันดับ 1 คือประเทศจีน ในขณะที่ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่อันดับที่ 118 จาก 121 ประเทศ

 

โดยมีการประเมินรวมทั้งหมด 3 ด้าน ได้แก่ การบริการจัดการด้านการติดเชื้อ ทั้งการตรวจและพบเชื้อ, การกระจายวัคซีนให้กับประชากร, และการเคลื่อนย้ายของประชาชนและความเข้มงวดในการควบคุมโรค ซึ่งจากผลของตัวชี้วัดนี้ สะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ของไทยกำลังน่าเป็นห่วง

นายธรรมธีร์ กล่าวว่า ข้อมูลจาก Our World in Data ชี้ให้เห็นว่าแม้ประเทศไทยจะมีอัตราเร่งของจำนวนในการฉีดวัคซีนได้ดีเทียบกับประเทศอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา และอังกฤษแล้ว แต่อัตราผู้เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อ ยังไม่มีแนวโน้มลดลงหลังเกิดการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าที่มาตั้งแต่ช่วง เม.ย.-พ.ค. 64 เมื่อเทียบกับประเทศดังกล่าว ที่ใช้ mRNA เป็นวัคซีนหลัก ซึ่งตัวชี้วัดนี้ค่อนข้างน่าสนใจที่จะใช้ในการวัดคุณภาพของวัคซีนที่รัฐบาลจัดหาและเกณฑ์การคัดเลือกชนิดวัคซีนหลักซึ่งเป็นที่กังขามาตลอด

                          “ไทยสร้างไทย”เปิดข้อมูลประเทศฟื้นตัวโควิดเร็วไทยอันดับ 118 จาก 121 ประเทศ

การจะแก้ปัญหาโรคระบาดได้นั้น ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือการติดตามสถานการณ์ การแก้ไขปัญหา และผลของนโยบายต่าง ๆ ที่ออกมาแล้วบนพื้นฐานของความเป็นจริง วัดได้จริง โดยใช้ฐานข้อมูลทั้งภายในประเทศและทั่วโลก เพื่อบูรณาการข้อมูลเหล่านั้นมาแสดงผลและวิเคราะห์ให้สะดวกรวดเร็วต่อการใช้งานและแก้ไขสถานการณ์จากทุกฝ่าย นั้นจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้และต้องทำทันที

โดยข้อมูลเหล่านี้ นอกจากจะช่วยให้ประชาชนสามารถปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกรัฐบาลกล่าวโทษแล้ว ภาครัฐเองยังสามารถใช้ในการวางแผนและประเมินผลกระทบของมาตรการต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นการกระจายวัคซีนและความช่วยเหลือไปยังเมืองที่มีความหนาแน่นของปัญหาสูงสุด จนไปถึงการเปิดปิดเมืองและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระจายความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว และมีความโปร่งใสด้วยงบประมาณที่ไม่แพงอีกด้วย