ไขข้อสงสัย รัฐธรรมนูญมาตรา171 กับปมปลด "ธรรมนัส - นฤมล" 

10 ก.ย. 2564 | 15:18 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ย. 2564 | 22:33 น.
2.9 k

ไขข้อสงสัย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 171 กับกรณีการปลด 2 รัฐมนตรีช่วย "ธรรมนัส และ นฤมล" พ้นความเป็นรัฐมนตรี

จากกรณีที่เมื่อวันที่  9 ก.ย.64 เว็บไซด์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศ ให้ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า และ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี โดยอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 171 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 
 

ต่อมาวันที่ 10 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ตอบคำถามสื่อมวลชนอีกครั้ง ถึงการ "ปลด 2 รัฐมนตรีช่วย" ดังกล่าว

ไขข้อสงสัย รัฐธรรมนูญมาตรา171  กับปมปลด \"ธรรมนัส - นฤมล\" 

โดยผู้สื่อข่าวถามว่าได้มีการพูดคุยหรือเคลียร์กับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเรียบร้อยแล้วใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ย้อนตอบคำถามว่า "เคลียร์เรื่องอะไร ไปดูมาตรา 171 "

เมื่อถามว่านายกฯ สบายใจขึ้นแล้วใช่หรือไม่เรื่องการเมือง  พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "สบายใจมาตลอด แต่เป็นเรื่องที่นายกฯ ต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้างเพื่อให้เกิดผลดีต่อการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐธรรมนูญเขียนไว้แล้วในมาตรา 171"

 

มีคำถามว่า "มาตรา 171" ของรัฐธรรมนูญ คืออะไร บัญญัติว่าอย่างไร มีความหมายว่าอย่างไร 

ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบข้อมูลจาก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ระบุ มาตรา 171 อยู่ในหมวด "หมวด 8 คณะรัฐมนตรี" มีเนื้อหาบัญญัติว่า 

"มาตรา ๑๗๑ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอํานาจในการให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี ตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคําแนะนํา"

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นหนึ่งในผู้ที่ไขข้อสงสัยกับมาตรา 171 ดังกล่าวกับสังคมว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นการปลดออกจากตำแหน่ง เนื่องจากในตัวพระบรมราชโองการ ได้มีการอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 171 บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอํานาจในการให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี ตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคําแนะนํา

นายวิษณุ กล่าวว่า วันที่มีผลบังคับจริง คือวันที่ระบุในพระบรมราชโองการ นั่นหมายถึงตั้งแต่เวลา หนึ่งนาฬิกาของวันที่ 8 ก.ย. 2564  ไขข้อสงสัย รัฐธรรมนูญมาตรา171  กับปมปลด \"ธรรมนัส - นฤมล\" 

ด้าน ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า ความรู้กฎหมายเล็กๆน้อยๆ

1. กรณีรัฐมนตรีลาออก เป็นเหตุการณ์ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 170(2) ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงทันทีด้วยเหตุของการลาออกนั้นเอง ไม่จำเป็นต้องมีพระบรมราชโองการ มีแต่เพียงประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีแสดงข้อเท็จจริงดังกล่าวให้สาธารณะได้รับทราบเท่านั้นก็เพียงพอ

2. กรณีนายกรัฐมนตรีไม่ประสงค์ให้รัฐมนตรีทำงานร่วมคณะต่อไป เป็นเหตุการณ์ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 171 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ กรณีเช่นนี้ต้องมีประกาศพระบรมราชโองการให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี

"พูดภาษาชาวบ้านเรื่องแรกคือลาออก เรื่องหลังคือไล่ออก อยู่ต่างมาตรากันครับ" 

 

 

ที่มา รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560