ห่วง นศ.ปี 1 ได้เงิน กยศ.ช้า ต้องกู้เงินนอกระบบมาใช้

09 ก.ย. 2564 | 10:16 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ย. 2564 | 17:37 น.

พิมพ์รพี ห่วง นศ.ปี 1 ได้เงิน กยศ.ช้า เหตุ มีการปรับระบบใหม่ ต้องกู้เงินนอกระบบมาใช้ บี้ สถานศึกษา-กยศ. เร่งแก้ไข ชี้ ลูกหนี้ กยศ. มีมากกว่า 6 ล้านคน อีก1.1 ล้านคน ศาลพิพากษาแล้ว

วันที่ 9 ก.ย.2564 น.ส.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากนักศึกษาที่กู้เงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ว่า กำลังประสบปัญหาการกู้เงินล่าช้า จนทำให้ต้องไปกู้เงินนอกระบบมาหมุนก่อน ซึ่งสาเหตุมาจากรัฐบาลมีมติลดค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียม ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา สูงสุด 50 เปอร์เซ็นต์ ในสถาบันของรัฐ ส่วนสถาบันของเอกชน รัฐบาลสนันสนุน 5 พันบาทต่อคน แต่มตินี้กลับมีผลกระทบต่อนักศึกษาผู้กู้เงิน กยศ. ได้รับเงินล่าช้าจนต้องดิ้นรนวิ่งหาเงินจากแหล่งอื่นมาใช้ในการเรียนระหว่างที่คำขอกู้เงินจาก กยศ. ยังไม่ได้รับการอนุมัติ

“เท่าที่ติดตามพบปัญหาเกิดจากสองส่วนคือ มหาวิทยาลัยส่งเอกสารของนักศึกษาเข้าระบบ กยศ.ล่าช้า ขณะที่ กยศ.เองก็ไม่มีมาตรการกำหนดระยะเวลาเส้นตายให้สถานศึกษาต้องเร่งดำเนินการ โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ผู้กู้ใหม่หรือนักศึกษาเทอม 1 ของปีการศึกษานี้ ได้เงินช้าจากการปรับระบบใหม่ จึงอยากให้ทั้งสถานศึกษาและ  กยศ.ช่วยกันแก้ปัญหา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของนักศึกษาและผู้ปกครองที่ยังต้องพึ่งเงินจาก กยศ.มาใช้ในการศึกษา การปรับระบบอะไรก็ตามต้องทำให้ดีขึ้น ไม่ใช่ทำแล้วกลายเป็นการสร้างปัญหาใหม่ หรือทำให้เกิดความล่าช้า” 

น.ส.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์

ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่า ตั้งแต่เริ่ม กยศ.ในปี 2539 จนถึงปัจจุบัน มีลูกหนี้เกือบ 6 ล้านคน ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 31  ก.ค.ที่ผ่านมา มีลูกหนี้จ่ายชำระเสร็จสิ้นแล้วกว่า 1.4 ล้านคน อีกว่า 8.2 แสนคน อยู่ในช่วงปลอดหนี้ อีกราว 6.5 หมื่นคน เสียชีวิต และมีลูกหนี้อีกกว่า 3.6 ล้านคน อยู่ระหว่างการผ่อนชำระ ในจำนวนนี้มีมากถึง 1.1 ล้านคน ที่ศาลพิพากษาแล้ว อยู่ระหว่างบังคับคดี ไม่ได้รับอานิสงก์ใด ๆ จากมาตรการรัฐที่ออกมาช่วยเหลือเรื่องหนี้ กยศ. จึงควรมีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้นำหนี้ที่ศาลพิพากษาแล้ว มาปรับโครงสร้างใหม่ได้ เหมือนมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ทำร่วมกับสถาบันการเงินและกรมบังคับคดี