"พรรครปช." ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เลือกตั้งบัตร 2 ใบ

08 ก.ย. 2564 | 19:26 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ย. 2564 | 02:43 น.

พรรครวมพลังประชาชาติไทย ออกแถลงการณ์ ส.ส.ของพรรค ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ชี้เลือกตั้งบัตร 2 ใบ ขัดแย้งหลัก “หนึ่งสิทธิ หนึ่งเสียง”

วันที่ 8 ก.ย.2564  นายเขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์  โฆษกพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) เปิดเผยว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ทุกคน  จะลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ที่จะมีการพิจารณาวาระ 3 ในการประชุมร่วมรัฐสภา ในวันศุกร์ที่ 10 กันยายน 2564  โดยให้เหตุผลว่า   การเลือกตั้งโดยใช้บัตร 2 ใบ ขัดแย้งโดยตรงต่อหลัก “หนึ่งสิทธิ หนึ่งเสียง” (One Man, One Vote) ที่ประชาชนผู้ใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง  ด้วยบัตรใบเดียวเพื่อเลือก ส.ส. จากเขตเลือกตั้ง  และบัตรเดียวกันนั้น ก็ถือเป็นคะแนนของพรรคที่ส่งผู้สมัครคนนั้นลงสมัครรับเลือกตั้ง  โดยคะแนนของพรรคดังกล่าว ก็จะได้รับการรวมคำนวณเพื่อสิทธิในการมีจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อภายใต้เกณฑ์การคำนวณสัดส่วน ส.ส. ที่พึงมีของพรรคนั้นๆ

 

​ระบบการเลือกตั้งโดยใช้บัตรใบเดียวนี้มีความชอบธรรม  ที่ผู้เลือกตั้งจะได้พิจารณาตัวบุคคล อุดมการณ์และนโยบายของพรรคไปพร้อมกัน ทำให้เกิดเอกภาพความเป็นหนึ่งเดียวของการเป็นพรรคการเมือง และระบบการเลือกตั้ง   เช่นนี้เป็นการเคารพทุกคะแนนเสียงของประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง จะไม่เกิดสภาพ “คะแนนหล่นน้ำ สูญเปล่า” แม้ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตจะ ไม่ชนะเป็นที่ 1 ในเขตนั้น เพราะคะแน

 

ในอดีตภายใต้รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 เป็นที่ประจักษ์ว่า การเลือกตั้งโดยใช้บัตร 2 ใบ ทำให้พรรคการเมืองใหญ่ที่มีความได้เปรียบในด้านทุนรอนที่ใช้ในการรณรงค์ หาเสียงเลือกตั้ง รวมทั้งการซื้อสิทธิซื้อเสียงที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐยังไม่อาจจับได้ไล่ทัน สามารถใช้พลังอำนาจทุนที่เหนือกว่าพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็ก และได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตจำนวนมาก แล้วยังได้จำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้นอีกด้วย  ซึ่งเป็นสภาพการณ์ที่ทำให้พรรคใหญ่ได้ ส.ส. เกินกว่าที่ควรได้ คือ ได้ทั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ เป็นการขัดต่อหลัก “หนึ่งสิทธิ หนึ่งเสียง” ซึ่งหมายถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนหนึ่งควรใช้สิทธิเลือกผู้ที่จะเข้าไปเป็นปากเสียงแทนตนในสภาได้ 1 คน

\"พรรครปช.\" ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เลือกตั้งบัตร 2 ใบ

แต่การใช้บัตร 2 ใบ ทำให้ใช้สิทธิได้ 2 สิทธิ 2 เสียง คือ เลือกตั้ง ส.ส. เขต และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ซึ่งข้อที่เสียหายก็คือ หาก 2 เสียงที่เลือกไปนั้น   มิใช่เป็นพรรคการเมืองเดียวกัน นโยบายพรรคแตกต่างกัน ย่อมเกิดความไม่สอดคล้องในการปฏิบัติตามนโยบาย

 

และการที่พรรคใหญ่ได้จำนวน ส.ส. ที่มากเกินส่วนที่พึงมีเช่นนี้จึงได้เกิด “เผด็จการรัฐสภา” ขึ้น ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนที่สุดภายหลังการเลือกตั้ง ปี 2554 สมัยรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  ที่รัฐบาลและฝ่ายเสียงข้างมากในสภาฯ ได้ใช้พลังอำนาจแห่งเสียงข้างมากดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มพูน อำนาจของฝ่ายตน ด้วยการเปลี่ยนแปลงที่มาของสมาชิกวุฒิสภ  และที่ร้ายกาจที่สุดคือ การออกกฎหมายนิรโทษกรรมอันขัดต่อหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม เพื่อช่วยให้คนของฝ่ายตน ที่ถูกศาลพิพากษา ว่า มีความผิดต้องรับโทษตามกฎหมาย
 

ประสบการณ์ของประเทศไทยในระบบการเลือกตั้งที่ใช้บัตร 2 ใบ ได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่มีการใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และฉบับต่อมา พ.ศ. 2550 ที่ได้เกิดผลร้ายให้เห็นมายาวนานเกินกว่าสองทศวรรษ บัดนี้หากจะย้อนกลับไปใช้ระบบดังกล่าวอีก ย่อมจะเป็นการ “ถอยหลังลงคลอง” ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงที่พัฒนาให้เป็นความก้าวหน้าขึ้น

 

สุดท้าย การเลือกตั้งที่ใช้บัตร 2 ใบ สำหรับบัตรที่เลือก ส.ส. เขต เมื่อมีผู้สมัครที่ได้คะแนนเป็นที่ 1 ไปแล้ว คะแนนเสียงที่ลงให้แก่ผู้สมัครรายอื่นๆ  ถูกตัดโอกาส ไม่สามารถมีตัวแทนเป็นปากเสียงในสภาได้เลย ในขณะที่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ใช้อยู่ ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเป็นการที่ผู้เลือกตั้งแสดงเจตนารมณ์เป็นหนึ่งเดียว  ระหว่างตัวบุคคล และพรรค  คะแนนเสียงทุกคะแนนที่ลงให้แก่ผู้สมัครในเขตเลือกตั้งทุกเขตทั่วประเทศ นำไปรวมคำนวณทำให้ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อตามจำนวนที่พึงมี 

 

จากสาระสำคัญที่ได้กล่าวมาข้างต้น พรรครวมพลังประชาชาติไทยเห็นว่าการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ในครั้งนี้ มิได้เกิดสาระเป็นประโยชน์แก่ประชาชน  แต่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์แก่นักการเมืองและพรรคการเมืองใหญ่ๆโดยแท้

 

ดังนั้น คณะกรรมการบริหารและ ส.ส. พรรครวมพลังประชาชาติไทยทุกคน จึงขอเรียนย้ำจุดยืนที่คัดค้านและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมนี้