พิษอภิปรายไม่ไว้วางใจ พลังประชารัฐ แตกยับ!

03 ก.ย. 2564 | 12:07 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.ย. 2564 | 20:16 น.
3.3 k

พิษอภิปรายไม่ไว้วางใจ พลังประชารัฐ แตกยับ! : รายงาน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,711 หน้า 12 วันที่ 5 - 8 กันยายน 2564

ท่ามกลางการอภิปรายไม่ไว้วางใจ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมและรัฐมนตรีอีก 5 คน ระหว่างวันที่ 31 ส.ค.-3 ก.ย. และมีการโหวตลงมติในวันที่ 4 ก.ย. 2564 

 

ความสนใจทางการเมือง กลับไม่ได้อยู่ที่เนื้อสาระของ “ฝ่ายค้าน” ที่อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และ รัฐมนตรี แต่กลับมุ่งไปที่ปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นหลัก 

 

โดยเฉพาะกระแสข่าวมีความพยายามของกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์และเลขาธิการพรรค พปชร. ที่ต้องการโค่นล้ม นายกรัฐมนตรี 

 

ย้อนไปก่อนหน้าที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเกิดขึ้น เมื่อวันศุกร์ที่ 27 ส.ค. มีกระแสข่าวแกนนำพรรค พปชร.บางคน พยายามเดินสายล็อบบี้ส.ส.ให้โหวตควํ่ารัฐมนตรีบางในรัฐบาลเพื่อกดดันให้ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ปรับครม. โดยเฉพาะรัฐมนตรีในโควตาของพรรค ที่ถูกยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้งนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์รมว.ดีอีเอส และ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน

 

กระแสข่าวดังกล่าวทำให้ “นายกฯ” เกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมาก

 

“แกนนำพรรค พปชร.บางคนพยายามเดินสายล็อบบี้ ส.ส.ในพรรค แต่อาจจะติดอยู่ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค จึงมีโอกาสสูงที่จะล็อบบี้คะแนนเสียงจากพรรคเล็ก โดยให้ลงมติไม่ไว้วางใจ หรือ งดออกเสียง ให้กับ นายชัยวุฒิ และ นายสุชาติ เนื่องจากต้องการกดดันให้นายกฯ ปรับ ครม.”  

 

กลุ่ม 4 ช.ก่อหวอด

 

นอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าวว่า แกนนำส.ส.พลังประชารัฐ ใน “กลุ่ม 4 ช.” เตรียมกดดันให้นายกฯ ปรับ นางตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ พ้นเก้าอี้รัฐมนตรี โดยอ้างว่า ไม่มีผลงานที่ชัดเจน และไม่สามารถดำเนินการตามนโยบายของนายกฯ ได้ 

 

ความต้องการของ “กลุ่ม 4 ช.” คือ ร.อ.ธรรมนัส จะเป็น รมว.แรงงาน แทน นายสุชาติ ขณะที่ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน จะเป็นรมว.ศึกษาธิการ แทน นางตรีนุช ส่วนนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม จะเป็น รมว.ดีอีเอส แทนนายชัยวุฒิ 

 

ต่อมาก็มีกระแสข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ส่งไลน์ไปสอบถาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรค พปชร. ถึงกระแสข่าวมีคนเตรียมใช้เสียงของพรรคเล็กโหวตควํ่านายกฯ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเพื่อกดดันให้ปรับ ครม. รวมถึงกระแสข่าวการพลิกขั้วทางการเมือง

 

โดยระหว่างการประชุมแกนนำพรรค พปชร. รวมถึงรัฐมนตรี และ ส.ส.พปชร.บางส่วน กับ พล.อ.ประวิตรเมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ ช่วงหนึ่งของการประชุม พล.อ.ประวิตรได้อ่านข้อความในไลน์ ซึ่งเป็นคำถามของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ฝากมาถาม ส.ส.ให้ทุกคนได้ฟัง อาทิ “ทำไม ส.ส.ถึงไม่สนับสนุนผม มีเหตุผลอะไร ผมผิดอะไร แล้วถ้าจะไม่สนับสนุน จะหาใครมาเป็นนายกฯ ผมทำงานเหนื่อยขนาดนี้ แล้วจะให้ใครมาเป็น”

 

เดินเกมเขี่ย“อนุพงษ์”

 

เมื่ออ่านคำถามเสร็จ พล.อ.ประวิตร ได้พูดกับ ส.ส.ว่า กระแสข่าวที่เกิดขึ้นมาก็เป็นกระแสที่เปิดขึ้นมา ไม่มีอะไร และที่นายกฯ ต้องถาม เพราะตอนนี้มีการเคลื่อนไหวของ ร.อ.ธรรมนัส,  นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรค พปชร. และ นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร และรองเลขาธิการพรรคพปชร.

 

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า การประชุมในช่วงหนึ่ง ร.อ.ธรรมนัส ได้ชี้แจงว่า ได้รับความคิดเห็นจากส.ส.หลายคน ที่ไม่พอใจถึงการทำงานของรัฐมนตรีโดยเฉพาะ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ที่ลอยตัวไม่เห็นส.ส.ในสายตา จึงเห็นว่าควรปรับเปลี่ยนโดยดึงโควตากระทรวงมหาดไทย ให้กลับมาเป็นของพรรค เพราะไม่ตอบสนองต่อสังคม และไม่มีปฏิกิริยาตอบรับใดๆ

 

โดยช่วงหนึ่ง มีรายงานว่า ร.อ.ธรรมนัส ได้ระบุตอนหนึ่งว่า วันนี้รัฐมนตรีของพรรคทุกคนมีผลงานอะไรบ้าง ที่จะไปใช้หาเสียงกับประชาชนว่าเป็นผลงานของพรรคพปชร. มองไปแล้วไม่มีเลยสำหรับตนเป็นรัฐมนตรี เหมือนไม่ได้เป็น ไม่มีงบฯ ไม่มีอะไรเลย

 

“บิ๊กตู่”เมินแรงกดดัน

 

ความเคลื่อนไหวของ ร.อ.ธรรมนัส ดังกล่าว จึงเป็นที่ของการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมายํ้าเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 64 ที่ผ่านมา ว่า

 

“ผมขอยืนยันตรงนี้ ยังไม่มี การปรับคณะรัฐมนตรี และยังไม่มีการยุบสภาในตอนนี้ ยังไม่มีอยู่ในหัวสมองผม ใครที่ออกมาพูดลักษณะนี้ ขอให้ระวังตัวไว้ด้วย เพื่อสร้างความตระหนักในการอภิปรายอะไรก็แล้วแต่ เพราะผมติดตามข่าวจากสื่อมาตลอด ถ้ามีคนทำเช่นนั้นจริงผมคิดว่าเป็นคนใช้ไม่ได้” 

 

พิษอภิปรายไม่ไว้วางใจ พลังประชารัฐ แตกยับ!

 

 

นายกฯ ยังตอบคำถามถึงประ เด็นที่พูดคุยกับ พล.อ.ประวิตร ด้วยว่าได้มีการพูดคุยกันแล้ว พล.อ.ประวิตร ยืนยันว่าไม่มีปัญหาอะไร คุยกันภายในพรรคเรียบร้อยแล้ว แต่ยังมีการปล่อยข่าวพวกนี้ออกมา ตน และ พล.อ.ประวิตรก็ไม่สบายใจ

 

“ตอนนี้มีข่าวอยู่ 2-3 เรื่อง 1.คือการโหวตล้มนายกฯ ถ้ามันจริง ผมถือว่าไม่เป็นสุภาพบุรุษ เพราะเวลานี้ไม่ใช่เวลาที่จะทำอย่างนั้น ทำไปเพื่ออะไร ผมเข้ามา ก็ทำงาน 100% ในทุกเรื่อง เพราะฉะนั้นการที่จะไปรวมคะแนนเสียงโหวต ซึ่งจริงหรือไม่จริง ผมไม่ทราบ แต่ถือว่าไม่ใช่สุภาพบุรุษ ถ้าทำแบบนั้น”

 

“ส่วนเรื่องที่ 2 อาจปล่อยข่าวว่า ผมจะยุบสภา ทุกคนก็ตื่นตระหนกกันไปหมด หรือไม่ให้นายกฯ มีอำนาจยุบสภาฯ ดีกว่า พูดอย่างนี้ใช้ได้หรือเปล่า และ 3 มีการแอบอ้างหรือไม่ ผมยืนยันว่าเป็นการแอบอ้างทั้งสิ้น”

 

ส่วนกรณีข่าวการเปลี่ยนตัวนายกฯ โดยแอบอ้างเบื้องสูง พล.อ. ประยุทธ์ ตอบว่า “ถือเป็นความผิดร้ายแรง ผมคนเดียวเท่านั้นที่ได้มีโอกาสถวายข้อราชการ คนอื่นไม่มี โอเคไหม ชัดเจนไหม”

 

เมื่อถามถึงกรณี พล.อ.อนุพงษ์เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ก็ถูกทวงคืนเก้าอี้เป็นโควตาของพรรค พปชร.นายกฯ กล่าวว่า เอาไปทำอะไร เอาไปทำเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติหรือเปล่า 

 

นายกฯ ยังยืนยันว่า จะอยู่ครบเทอมกับพรรคร่วมรัฐบาลโดยระบุว่า “ผมได้บอกกับหัวหน้าพรรค 3-4 พรรค ว่าเราต้องอยู่กันไปให้ได้ก่อนในวันนี้ วันหน้าเป็นเรื่องของวันหน้า เรื่องเลือกตั้งก็อีกเรื่องหนึ่ง” 

 

เย็นวันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวได้สอบถามได้พูดคุยกับ ร.อ.ธรรมนัส หรือยัง นายกฯ กล่าวว่า “ทำไมต้องคุยล่ะ ก็เป็นเรื่อของเขา ว่ากันไป” 

 

“ธรรมนัส”โบ้ยไอ้ห้อยไอ้โหน

 

ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส ออกมาพูดถึงกระแสข่าวอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวล้มนายกฯ ว่า ขอยืนยันว่า ไม่เคยสนใจหรือใส่ใจเรื่องตำแหน่งหน้าที่และพูดมาเสมอว่าจากลูกชาวนา เด็กบ้านนอก คนจน มาถึงทุกวันนี้ และได้ทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองถือว่าชีวิตสูงสุดแล้ว การจะมาแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นในรัฐบาล ในคณะรัฐมนตรีเดียวกัน ไม่ใช่พฤติกรรมของตน

 

“ข่าวลือที่ออกมาว่าผมจะทำอันนู้นอันนี้ ไม่เป็นความจริง และมีข่าวที่ได้ยินมาจาก ส.ส.ที่โทรศัพท์มาหาว่ามีหัวหน้าพรรคเล็กคนหนึ่งเสนอรับเงิน 10 ล้านบาท เพื่อต่างตอบแทน และร้ายไปกว่านั้นมีรัฐมนตรีในพรรค พปชร.รับงานมาล็อบบี้ ส.ส.พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพปชร.ในการโหวตสนับสนุนใครคนหนึ่งต้องถามว่าคนเป็นรัฐมนตรีสมควรทำอย่างนั้นหรือไม่”

 

ส่วนที่มีการโยงชื่อ ร.อ.ธรรมนัสเป็นหนึ่งในขบวนการล้มนายกฯ ร.อ.ธรรมนัส ยืนยันว่า พรรค พปชร.ไม่มีอย่างนั้น ใครมาถามก็บอกไปว่าดูแล้วกัน และให้ตัดสินใจเอง ตนไม่ได้ถูกใช้ให้มาล็อบบี้ใคร ไม่ว่าจะให้ช่วยรัฐบาลหรือไปรับรองพรรคอื่นให้มาช่วย หรือโหวตควํ่าใครคนใดคนหนึ่ง ตนไม่ทำ

 

“ต้องไปถามคนเต้าข่าวว่าต้องการอะไรแน่ คนเต้าข่าวไม่ใช่ฝ่ายค้าน พรรคฝ่ายรัฐบาล ไอ้ห้อยไอ้โหนทั้งหลาย ชอบเลียแข้งเลียขา สำเหนียกซะบ้าง ผมรู้หมดแล้ว บางคนบันทึกเทปไว้หมดแล้ว ระวัง เดี๋ยวเจอกัน” ร.อ.ธรรมนัส ระบุ

 

พปชร.แตกหลายก๊ก

 

ว่ากันว่า สถานการณ์ก่อนหน้านี้ ร.อ.ธรรมนัส มีดุลอำนาจการเมืองเหนือกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ที่สามารถคุมทิศทางการโหวตลงได้ เพราะนอกจากภาพการหารือกับ “หัวหน้าพรรคเล็ก” ที่ปรากฏให้เห็นในสภาระหว่างการอภิปรายไม้ไว้วางใจแล้ว ส.ส.ในพลังประชารัฐจำนวนหนึ่งก็พร้อมปฏิบัติตามหากได้รับสัญญาณ

 

แต่คนระดับ “บิ๊กตู่” คงไม่ปล่อยให้ใครมา “ลบเหลี่ยม” เอาได้ง่ายๆ ซึ่งก็มีรายงานว่า ฝ่าย “บิ๊กตู่” ก็มีการเช็คเสียงส.ส.ที่จะโหวตลงมติ  และมีการล็อบบี้ส.ส.เพื่อไม่ให้ค้อยตามของฝ่ายที่ต้องการโค้นล้ม 

 

สำหรับกลุ่มต่างๆ ในรัฐบาลนั้น

 

ฝั่งนายกฯ ประกอบด้วย กลุ่มสามมิตร, กลุ่มดาวฤกษ์, กลุ่ม พล.อ.อนุพงษ์, กลุ่มสุชาติ ชมกลิ่น, กลุ่มตรีนุช (สระแก้ว), กลุ่มคุณปลื้ม (ชลบุรี), กลุ่มนิโรธ สุนทรเลขา (10 เสียง), พรรคท้องถิ่นไทย, พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรครวมพลังประชาชาติไทย

 

ฝั่ง พล.อ.ประวิตร ประกอบด้วย กลุ่มเสธ อ.+ส.ส.สมุทรปราการ, กลุ่มส.ส.ตะวันตก, สิระ เจนจาคะ, กลุ่มภาคใต้, พรรคเศรษฐกิจใหม่ 

 

ฝั่ง ร.อ.ธรรมนัส ประกอบด้วยกลุ่มภาคใต้, กลุ่มภาคเหนือบางส่วน (15 เสียง), กลุ่มภาคอีสาน (8 เสียง- เอกราช ช่างเหลา), กทม.บางส่วน, พรรคเล็ก (10-12 เสียง)

 

เฉพาะในพปชร.ก็แบ่งเป็นหลายกลุ่ม หลายก๊ก ความเป็นเอกภาพภายในพรรค สถานการณ์ขณะนี้บอกได้เลยว่า “แตกยับ”