ACT ค้านตั้ง “ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม” นั่งผู้ตรวจการอัยการ

13 ส.ค. 2564 | 15:39 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ส.ค. 2564 | 22:43 น.
701

ACT ค้านตั้ง “ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม” ขึ้นผู้ตรวจการอัยการ เหตุต้องคดีอาญาเมาขับรถชนผู้อื่นแล้วหนี หวั่นสร้างมลทิน กลายเป็นเสาหลักปักขี้เลน กระทบศรัทธาต่อองค์กร และกระบวนการยุติธรรม

วันที่ 13 สิงหาคม  2564  องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เผยแพร่เอกสารแสดงความคิดเห็นกรณี การแต่งตั้งอัยการระดับสูง โดยเฉพาะกรณีที่อัยการสูงสุด ได้มีหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แจ้งมติการประชุมคณะกรรมการอัยการ ว่าเห็นชอบในการเลื่อน นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญาธนบุรี ขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการอัยการ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.63 เป็นต้นไป โดยเนื้อหาในเอกสารระบุ ดังนี้

 

“ฤ จะเป็นเสาหลักปักขี้เลน”

 

เป็นเรื่องอันตรายและน่าเศร้าสลดมาก ต่ออนาคตของบ้านเมือง หากสำนักงานอัยการสูงสุดไม่ดำรงอยู่เป็นเสาหลักความยุติธรรมที่มั่นคงยืนหยัดให้ประชาชน แต่กลับโอนเอนเป็นเสาหลักปักขี้เลนเพราะพวกพ้อง และผลประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงหลักการและเกียรติยศ จากกรณีการผลักดันแต่งตั้งอัยการระดับสูงขึ้นเป็น “ผู้ตรวจการอัยการ” ทั้งๆ ที่ถูกดำเนินคดีอาญาเพราะขับรถยนต์ในขณะมึนเมาแล้วชนผู้อื่น แต่เรื่องการแต่งตั้งยังไม่แล้วเสร็จ เพราะยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ 

 

ล่าสุดเมื่อ 2 สิงหาคม 2564 อัยการสูงสุดได้มีจดหมายถึงเลขาธิการ ครม.ให้กราบบังคมทูลฯ อีกครั้ง โดยให้การแต่งตั้ง มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เงื่อนไขนี้จะส่งผลให้ได้รับการแต่งตั้งเป็น “รองอัยการสูงสุด” ในเดือนกันยายนนี้

 

ความโปร่งใสที่ไม่เป็นธรรม คือ ความกล้าที่หยามเกียรติยิ่งกว่า!

ACT ค้านตั้ง “ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม” นั่งผู้ตรวจการอัยการ

เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2562 อัยการระดับสูงท่านนี้ได้ขับรถยนต์ในขณะมึนเมาเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์และไม่หยุดลงมาช่วยเหลือ แต่มีชาวบ้านขับรถติดตามไปทัน ตำรวจตั้งข้อหาขับขี่รถขณะเมาสุราหรือของมึนเมาเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับอันตรายแก่กายจิตใจ ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายต่อบุคคลหรือทรัพย์สิน ขับรถเฉี่ยวชนแล้วหลบหนี และกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตราย ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี ยื่นฟ้องเฉพาะความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุรา โดยสั่งไม่ฟ้องข้อหาชนเเล้วหนี 

 

ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 จึงทำความเห็นแย้ง แต่อัยการสูงสุดชี้ขาดยืนตามอัยการจังหวัด จำเลยรับสารภาพ ศาลพิพากษาให้จำคุก 2 ปี แต่รอลงอาญาและให้คุมประพฤติ 1 ปีโดยต้องไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 ครั้ง (ยังไม่มีข้อมูลว่ากรณีนี้ได้รับประโยชน์จาก พรฎ. พระราชทานอภัยโทษฯ เมื่อ 28 กรกฎาคม 2564 ด้วยหรือไม่) อัยการไม่ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ขณะที่ทางผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 มีความเห็นแย้งให้ยื่นอุทธรณ์คดีขอให้ลงโทษสถานหนัก สุดท้ายอัยการสูงสุดชี้ขาดไม่อุทธรณ์คดีจึงยุติ

 

เลือกปฏิบัติ หรือ ยุติธรรม? คุณธรรม อยู่ที่ไหน?

 

ผลจากคดีที่ฟ้องร้อง อัยการท่านนี้ยังถูกลงโทษทางวินัยให้ว่ากล่าวตักเตือน ซึ่งฟังดูธรรมดามากที่ทำผิดแล้วโดนว่ากล่าวตักเตือน แต่มันเบามากเมื่อเทียบกับกรณีอัยการเมาแล้วกร่างให้ตำรวจพาไปร้านลาบ เมื่อปี 2560 กรณีนี้ไม่มีความผิดอาญาไม่ได้ถูกศาลพิพากษา ต้องถูกลงโทษไม่เลื่อนตำแหน่งนาน 2 ปี เพราะถือว่าทำผิดวินัยฐานกระทำการที่อาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ค. 2553 มาตรา 64 ประกอบมาตรา 74 อย่างนี้ ยึดหลักเท่าเทียมหรือเลือกปฏิบัติ!

 

ทำให้มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องนี้เกี่ยวอะไรหรือไม่กับการที่อัยการอาวุโสท่านนี้เป็นหนึ่งในคณะทำงานตรวจสอบกรณีอดีตรองอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องคดีบอสกระทิงแดง  รัฐธรรมนูญมาตรา 76 และแผนปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ วางหลักให้การแต่งตั้งข้าราชการยุคใหม่ต้องยึดถือหลักระบบคุณธรรม หากองค์กรใดฝืนแต่งตั้งบุคคลที่มีมลทินมัวหมองเป็นผู้บริหารระดับสูง ย่อมเท่ากับสร้างบรรทัดฐานขึ้นมาใหม่ แล้วสังคมจะยอมรับและศรัทธาผู้บริหารและองค์กรนั้นได้อย่างไร

จึงเกิดคำถามว่า ผู้ใหญ่ในสำนักงานอัยการสูงสุดกำลังคิดอะไร มีเบื้องหลังหรือไม่? และต้องถามอัยการทั่วประเทศว่า ท่านพร้อมแล้วที่จะเห็นภาพและบอกกับสังคมว่า คนที่ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมความประพฤติเพราะข้อหาเมาแล้วขับรถชนผู้อื่นแล้วหนีคือ … ผู้บังคับบัญชาของท่าน! ท่านพร้อมแล้วใช่ไหมที่จะบอกกับทุกคนว่า ความผิดเช่นนี้สำหรับผู้ใหญ่ถือเป็นความผิดเล็กน้อย แต่หากเกิดขึ้นกับคนทั่วไปจะตัดสินว่าโทษมหันต์น่าอับอาย

 

เมื่อเสาหลักปักอยู่ในขี้เลน … สังคมจะพึ่งพาเสาได้หรือ?

 

“อัยการ” คือเสาหลักในการปกป้องผลประโยชน์ของแผ่นดิน เป็นที่พึ่งพิงของประชาชนเมื่อเกิดคดีความ จึงต้องชัดเจนในความถูกต้องตรงไปตรงมา ต้องประพฤติตนด้วยมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรมขั้นสูง ยิ่งผู้บริหารระดับสูงที่มีอำนาจสั่งการเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน ยิ่งต้องปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อให้เกิดการยอมรับศรัทธาต่อการปฏิบัติหน้าที่และวิชาชีพ

 

ทุกวันนี้คอร์รัปชันในภาครัฐไม่ลดลง เพราะการเห็นแก่พวกพ้องในทางที่ผิด คอยช่วยเหลือและอุปถัมภ์เกื้อกูลกัน ถ้าเป็นการกระทำของคนในองค์กรอัยการและศาล ความเสื่อมเกียรติเสียศักดิ์ศรีที่เกิดขึ้นจะทำลายความเชื่อมั่น ของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมของชาติ

 

อัยการจึงต้องเป็นหลักชัยแห่งความหวังที่ตั้งมั่นบนฐานความซื่อสัตย์ เที่ยงธรรม เมื่อสามารถกลืนศักดิ์ศรีแห่งสถาบันได้ ก็ไม่ต่างจากเสาหลักปักขี้เลนที่ไม่นานก็อาจจะล้มจมหายไปในขี้เลน … เราจะยอมให้สิ่งนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยหรือ?