นิรโทษกรรมโควิด ต้องไม่ครอบคลุม ‘บิ๊กตู่-อนุทิน’

11 ส.ค. 2564 | 11:48 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ส.ค. 2564 | 18:49 น.

นิรโทษกรรมโควิด ต้องไม่ครอบคลุม ‘บิ๊กตู่-อนุทิน’ : รายงาน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,704 หน้า 12 วันที่ 12 - 14 สิงหาคม 2564

“นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง” กลายเป็นวลีร้อนในสังคมโซเชียล หลังนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลเปิดประเด็นเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ให้กับคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดหา และบริหารวัคซีนโควิด หรือ ร่างพ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ. …

 

พร้อมระบุหลักการของร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าวเป็นการจำกัดความรับผิดทั้งทางอาญา และแพ่ง ให้กับแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข ที่ปฏิบัติด่านหน้า ที่ทำงานเต็มความสามารถ โดยสุจริต  และไม่ได้เลือกปฏิบัติ ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด  

 

แม้ล่าสุด “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข จะออก ยอมรับว่า มีความพยายามจะออกกฎหมายดังกล่าวจริง แต่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่เตรียมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ยังไม่ได้มีการเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด

  

แนะใช้กลไกสภาออกก.ม.

 

มีมุมมองจาก นายสมชัย ศรีสุทธิยากร นักวิชาการ จากศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนามหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สะท้อนความเห็นต่อ พ.ร.ก.ดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ

 

นายสมชัย ระบุว่า จากร่างกฎหมายดังกล่าว จะมี 3 ประเด็น คือ 1. จะออกเป็นพระราชกำหนด หมายความว่าใช้แค่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกกฎหมายฉบับนี้ โดยไม่ต้องผ่านสภาฯ ความจริงไม่จำเป็นต้องออกเป็น พ.ร.ก.ในช่วงนี้ เพราะขณะนี้ยังอยู่ในสมัยประชุมสภา การออกพ.ร.ก.ต้องเป็นกรณีที่ไม่สามารถจัดประชุมสภาฯได้ ไม่ควรออกเป็น พ.ร.ก. ควรให้ตัวแทนประชาชน มีโอกาส อภิปรายให้ความเห็น

 

2. การมีผลใช้บังคับตามกฎหมายนั้น ที่เขียนไว้ในบทเฉพาะ กาลระบุว่ามีผลย้อนหลังไปตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อร้ายแรง หมายความว่ามีผลย้อนหลังไปตั้งแต่เริ่มต้นเลย 

 

และ 3. การคุ้มครองดังกล่าวเป็นการคุ้มครองซึ่งครอบคลุมไปยังผู้จัดหาวัคซีนด้วย คิดว่าที่หลาย ฝ่ายเห็นตรงกันคือ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีบทบาทในการ รักษา ต้องให้การคุ้มครอง เพื่อให้เกิดขวัญและกำลังใจ ไม่ให้เกิดปัญหากับการทำงาน

 

หนุนคุ้มครองบุคลากร สธ.

 

นายสมชัย กล่าวอีกว่า ตอนนี้ในการจัดหาวัคซีน เป็นแค่คนกลุ่มเดียว เป็นหน่วยงานของรัฐ หรือส่วนกลางที่ทำหน้าที่การจัดหา อันนี้จะกลายเป็นว่าอาจจะมีความผิดไปด้วยแม้ว่าจะมีข้อยกเว้นว่าไม่เป็นไปโดยสุจริต หรือ ทำการประมาทเลินเล่อก็ตาม แต่ก็เป็นการเปิดช่องให้ “ผู้จัดหา” พ้นจากความผิดในกรณีที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่า เป็นไปโดยประมาทเลินเล่อ หรือเป็นไปโดยไม่สุจริตหรือไม่

 

นิรโทษกรรมโควิด  ต้องไม่ครอบคลุม ‘บิ๊กตู่-อนุทิน’

 

ประเด็นทำการประมาทเลินเล่อนี้ จะเป็นประเด็นความรับผิดใน 3 กรณี คือ การรับผิดทางแพ่ง ทางอาญาและการรับผิดโดยละเมิดของเจ้าหน้าที่ทางแพ่ง และอาญาน่าจะเป็นประเด็นที่เกรงว่า ถ้าจะมีผู้เสียหายเกิดขึ้น แล้วมีการฟ้องร้องดำเนินคดี ยกตัวอย่างเช่น เรามีญาติทีเสียชีวิตเนื่องจากรักษาไม่ทันเนื่องจากวัคซีนเข้ามาไม่ทัน เป็นต้นไม่ได้รับแจกจ่ายวัคซีนในจังหวะที่ควรจะได้ แล้วมีการฟ้องร้องต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันนี้จะเป็นความผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา ซึ่งก็จะหลุดพ้นจากเรื่องราวต่างๆ ไป

 

ส่วนความรับผิดของละเมิดหมายความว่า ตัวเองเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ไปกระทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ ยกตัวเอย่างเช่น ไปจัดซื้อจัดจ้าง จัดหาวัคซีน ใช้เงินเกินกว่าที่สมควรจะเป็นและทำให้เกิดความเสียหาย หรืออาจไม่ได้เปรียบเทียบราคาที่เพียงพอ และทำให้การจัดซื้อจัดจ้างในแต่ละงวดมีราคาที่แตกต่างกันจนทำให้เกิดความเสียเปรียบเกิดขึ้นกับรัฐ หรือแม้กระทั่งการทำสัญญาที่อาจจะมีข้อบกพร่องผิดพลาด ทำให้รัฐบาลเกิดความเสียหาย เรียกว่าความผิดทางละเมิด ก็จะยกเว้นออกไป 

 

ค้านนิรโทษฯฝ่ายการเมือง

 

นายสมชัย กล่าวอีกว่า ที่ตนให้ความสำคัญคือ ความรับผิดทางแพ่ง และทางอาญา ที่เกิดจากบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำต่อประชาชน ต้องคุ้มครองเขาด้วย เพราะคงไม่มีใครปรารถนาให้มีคนเสียชีวิต ก็ต้องรักษาไปตาม ที่จะวินิจฉัยได้ และเท่าที่มีทรัพยากรที่จะช่วยได้ดีที่สุด เพราะฉะนั้นเรื่องที่จะให้บุคคลเหล่านี้พ้นผิดอันนั้นสมควรทำ

 

“ฝ่ายการเมืองที่ให้นโยบายและฝ่ายบริหารระดับสูงที่เป็นฝ่ายปฏิบัติเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างการจัดหาวัคซีน นั้นย่อมหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และ นายอนุทิน รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19  หรือ ศบค. ด้วย” นายสมชัย กล่าวทิ้งท้าย 

 

ฉะ‘อนุทิน’ใช้หมอบังหน้า

 

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ระบุถึงพ.ร.ก.นิรโทษกรรมโควิด ว่า พรรคก้าวไกลยืนยันว่า บุคลากรทาง การเเพทย์และสาธารณสุขที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ศบค. คำสั่งของรัฐบาล หรือ คำสั่งของ นายอนุทินที่มีมาตรการต่างๆ ออกมา หรือคณะทำงานใดๆ ที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาล จะต้องได้รับการปกป้องให้ไม่ต้องรับผิด เพราะเป็นการทำตามคำสั่งเท่านั้น

 

แต่ในระดับนโยบาย คณะบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการวัคซีน ที่สังคมตั้งข้อสงสัย เช่น ใครหรือคณะกรรมการชุดใดที่ให้ความเห็นที่ให้ประเทศไทยไม่ร่วมโครงการ COVAX คนกลุ่มนั้นไม่ควรลอยนวล ไม่ควรต้องได้รับการปกป้องจากฎหมายพิเศษแบบนี้

 

“แต่สิ่งที่ได้เห็นจากการชี้เเจงทั้งหมดของ นายอนุทิน คือ การเอาบุคคลากรทางการเเพทย์ด่านหน้า มาเป็นข้ออ้างเหมาเข่ง นิรโทษกรรมให้รัฐบาลทั้งสิ้น บุคคลในระดับนโยบายควรเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม อย่ากลัว ถ้าไม่คิดว่าตัวเองทำอะไรผิด”

 

เเต่หากคณะกรรมการหรือคณะที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์แพทย์หรือใครก็ตาม ไม่ดำเนินการอย่างสอดคล้องกับหลักวิชา ไม่เอารายงานการศึกษาวิจัยทางการเเพทย์นานาชาติมาประกอบกับการตัดสินใจอย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เเต่เป็นการตัดสินใจด้วยความต้องการส่วนตัว ก็คงต้องสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งศาลจะเป็นผู้ตัดสินเอง หากผิดสมควรต้องได้รับผิดตามกระบวนการยุติธรรมทั้งทางแพ่งอาญา เเละหากเป็นความผิดทางสังคมก็ต้องยอมรับให้สังคมประณาม

 

“การเหมาเข่ง เอาหมอบังหน้า แล้วทำให้คนที่ประชาชนเชื่อว่าอาจจะเป็นนักฆ่าให้พ้นผิด วันนี้วัคซีนยังไม่เต็มแขนประชาชน แล้วจะออกกฎหมายให้พ้นผิดมาทำไม” 

 

นายวิโรจน์ กล่าวด้วยว่า “สิ่งที่ประชาชนต้องการไม่ใช่การนิรโทษกรรม แต่เป็นการออกกฎหมายและระเบียบเพื่อชดเชยเยียวยาประชาชนที่ตาย หรือ เพื่อเลี้ยงดูฟูมฟักเด็กที่สูญเสียพ่อแม่ สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เขาต้องการ แต่รัฐบาลนี้ไม่ทำ กลับไปกลัวการที่ประชาชนจะฟ้องร้องความรับผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง ซึ่งนี่จะเป็นฟางเส้นสุดท้ายอีกเส้นที่จะเผาไหม้รัฐบาลประยุทธ์เอง”

 

ขณะที่ นายสุทิน คลังแสง ส.ส.พรรคเพื่อไทย และประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวเช่นกันว่า ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายค้านที่รับไม่ได้ สังคมก็รับไม่ได้เช่นกัน เพราะว่าการบริหารราชการแผ่นดินที่ปรากฏชัดในวันนี้นั้นผิดพลาดล้มเหลว 

 

“เมื่อมีคนจะไปร้องเอาผิดก็กลับจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับตัวเอง ฝ่ายค้านก็จะสู้ทุกวิถีทาง และเชื่อว่าสังคมก็จะร่วมกันต่อสู้ เพราะนี่จะเป็นการสร้างมาตรฐานที่ผิดพลาด จะทำให้ เป็นรัฐที่ไร้ระบบนิติรัฐนิติธรรมอย่างสิ้นเชิง วันนี้ก็สามารถจะต่อสู้ในกฎหมายปกติกันได้หากว่าบริสุทธิ์ก็จะชี้แจงได้ทั้งหมด”

 

ดังนั้นหากรัฐยังเดินหน้าที่จะออกกฎหมายฉบับนี้ เชื่อว่าจะเกิดความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนดังที่เกิดขึ้นในอดีตได้สูง เพราะฉะนั้นขอว่าอย่าทำเลยจะกลายเป็นวิกฤติิที่ซ้อนวิกฤติ ทั้งนี้ยืนยันว่าหากมีการเสนอขึ้นมาฝ่ายค้านก็จะไม่รับกฎหมายฉบับนี้