เอาหมอบังหน้า วิโรจน์ ฉะ ‘อนุทิน’ ปม พรก.นิรโทษโควิดเหมาเข่ง

10 ส.ค. 2564 | 14:16 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ส.ค. 2564 | 21:30 น.

วิโรจน์ โฆษกก้าวไกล ฉะ "อนุทิน" ปมเตรียมออก พ.ร.ก.นิรโทษบริหารโควิดผิดพลาดแบบเหมาเข่ง ชี้ เอาหมอบังหน้า ชี้เป็นฟางเส้นสุดท้ายเผาไหม้รัฐบาลประยุทธ์

วันที่ 10 ส.ค. 64 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล แถลงกรณีรัฐบาลเตรียมออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 จนเป็นที่วิจารณ์ว่า เสมือนเป็นการนิรโทษกรรมเหมาเข่งที่เหมารวมไปถึงผู้จัดหาบริหารจัดการวัคซีนผิดพลาดด้วย โดยระบุว่า ท่ามกลางสถานการณ์ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงปัจจุบัน พบผู้ติดเชื้อมากขึ้นเฉลี่ยเกือบ 2 หมื่นรายต่อวัน แต่ที่น่าตกใจคือ ในวันนี้มีผู้เสียชีวิตทะลุ 200 ราย สภาพเช่นนี้จึงเสมือนมีเครื่องบินตกในประเทศทุกวันเเละเสียชีวิตทั้งลำ สิ่งที่ประชาชนคาดหวังในสถานการณ์เช่นนี้คือ การออกมารับผิดชอบของรัฐบาลว่าจะชดเชยเยียวยาพวกเขาอย่างไร ไม่ว่าสาเหตุจะเกิดจากความหละหลวมหรือจงใจให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นก็ตาม  

 

พรรคก้าวไกลยืนยันว่า บุคลากรทางการเเพทย์และสาธารณสุขที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ศบค. คำสั่งของรัฐบาล หรือคำสั่งของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่มีมาตรการต่างๆออกมา หรือการต้องปฏิบัติตามคำสั่งคณะกรรมการ อนุกรรมการ หรือคณะทำงานใดๆที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาลจะต้องได้รับการปกป้องให้ไม่ต้องรับผิด เพราะเป็นการทำตามคำสั่งเท่านั้น 

“แต่ในระดับนโยบาย คณะบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการวัคซีนที่สังคมตั้งข้อสงสัย เช่น ใครหรือคณะกรรมการชุดใดที่ให้ความเห็นที่ให้ประเทศไทยไม่ร่วมโครงการ COVAX คนกลุ่มนั้นไม่ควรลอยนวล ไม่ควรต้องได้รับการปกป้องจากฎหมายพิเศษแบบนี้ และใครในคณะกรรมการชุดใดที่ให้ความเห็นในข้อที่ 10 ว่า “บุคลากรทางการเเพทย์ไม่ควรได้รับการกระตุ้นภูมิเป็นเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีนไฟเซอร์ เพราะเท่ากับเป็นการยอมรับว่าวัคซีนซิโนเเวคไม่มีประสิทธิภาพ เเละจะทำให้แก้ตัวยากมากขึ้น” การตัดสินใจด้วยเหตุผลเหล่านี้เป็นสิ่งที่บุคคลากรทางการเเพทย์ทั้งแผ่นดินยังคงรอคอยคำตอบว่า ใครเป็นผู้ให้ความเห็นนี้ เป็นอาจารย์แพทย์หรือบุคคลใดที่กระทำความบั่นทอนต่อความรู้สึกประชาชนและบุคลากรทางการเเพทย์

 

“แต่สิ่งที่ได้เห็นจากการชี้เเจงทั้งหมดของ นายอนุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคือ การเอาบุคคลากรทางการเเพทย์ด่านหน้า มาเป็นข้ออ้างเหมาเข่ง นิรโทษกรรมให้รัฐบาลทั้งสิ้น บุคคลในระดับนโยบายควรเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม อย่ากลัว ถ้าไม่คิดว่าตัวเองทำอะไรผิดต่อการทำให้วันนี้มีผู้ป่วยกว่า 800,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 6,000 ราย อย่ากลัวหากการบริหารจัดการต่างๆดำเนินการอย่างสอดคล้องกับหลักวิชาการทางการเเพทย์และมีการนำงานวิจัยหรือผลการศึกษามาประกอบการตัดสินใจ เเต่หากคณะกรรมการหรือคณะที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์แพทย์หรือใครก็ตาม ไม่ดำเนินการอย่างสอดคล้องกับหลักวิชา ไม่เอารายงานการศึกษาวิจัยทางการเเพทย์นานาชาติมาประกอบกับการตัดสินใจอย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เเต่เป็นการตัดสินใจด้วยความต้องการส่วนตัว ก็คงต้องสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งศาลจะเป็นผู้ตัดสินเอง หากผิดสมควรต้องได้รับผิดตามกระบวนการยุติธรรมทั้งทางแพ่งอาญา เเละหากเป็นความผิดทางสังคมก็ต้องยอมรับให้สังคมประณาม” 

นาย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

นายวิโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การงุบงิบรวบรัดตัดตอนออกเป็นพระราชกำหนดยังสะท้อนถึงความไม่ชอบมาพากลและทำให้ประชาชนอาจสงสัยต่อการกระทำของรัฐบาล เป็นพฤติกรรมเยี่ยงคณะรัฐประหารที่อ้างความดี แต่เป็นความดีในวงเล็บเพื่อให้ตนได้กระทำความชั่ว และขี้ขลาดหวาดกลัวในข้อเท็จจริง จงอย่าเอาการกระทำเช่นนี้มาออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อเหมาเข่งให้กับบุคคลเเละคณะบุคคลที่ออกนโยบายเชิงสาธารณสุขได้อีกเลย

 

“ตอนนี้ไม่ว่าไปสอบถามใครก็คงไม่มีใครบอกว่าบุคลากรด่านหน้าต้องรับผิดในการปฏิบัติหน้าที่ ตรงนี้เราไม่แย้งเลย แต่จุดที่ประชาชนเดือดดาลความพยายามออกกฎหมายนี้คือ การเหมาเข่ง เอาหมอบังหน้า แล้วทำให้คนที่ประชาชนเชื่อว่าอาจจะเป็นนักฆ่าให้พ้นผิด วันนี้วัคซีนยังไม่เต็มแขนประชาชนแล้วจะออกกฎหมายให้พ้นผิดมาทำไม นอกจากนี้จะต้องมีคำตอบที่ชัดเจนให้ประชาชนว่า นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี คณะกรรมการ อนุกรรมการ หรือคณะทำงานที่มีส่วนในการตัดสินใจทางนโยบายจะได้รับประโยชน์จาก พ.ร.ก.นี้ด้วยหรือไม่ หากจะเขียนเพื่อให้บุคลากรด่านหน้าสบายใจ ก็ควรออกเป็น พ.ร.บ.และต้องเขียนขอบเขตให้ชัดเจนว่าบุคลากรด่านหน้าเท่านั้นไม่เกี่ยวกับผู้ออกนโยบายที่จะได้รับการจำกัดความรับผิดนี้ สิ่งที่ประชาชนต้องการไม่ใช่การนิรโทษกรรม แต่เป็นการออกกฎหมายและระเบียบเพื่อชดเชยเยียวยาประชาชนที่ตายหรือเพื่อเลี้ยงดูฟูมฟักเด็กที่สูญเสียพ่อแม่ สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เขาต้องการ แต่รัฐบาลนี้ไม่ทำ กลับไปกลัวการที่ประชาชนจะฟ้องร้องความรับผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง ซึ่งนี่จะเป็นฟางเส้นสุดท้ายอีกเส้นที่จะเผาไหม้รัฐบาลประยุทธ์เอง” 

ด้าน ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า การเร่งออกกฎหมายนิรโทษที่เกิดขึ้นเหมือนสอดคล้องกับช่วงเวลาที่มีประชาชนหลายกลุ่มกำลังดำเนินการฟ้องร้องเพื่อเอาผิดต่อรัฐในขณะนี้ ไม่ว่าเรื่องเศรษฐกิจที่หรือการที่ญาติพี่น้องของเขาเสียชีวิตไป อย่างไรก็ตาม เรายืนยันว่า สำหรับผู้ปฏิบัติงานนั้น มีกฎหมายตามกลไกปกติดูแลให้ประชาชนฟ้องไม่ได้อยู่แล้ว หากจะมีการฟ้องร้องต้องไปฟ้องต่อหน่วยงาน รวมถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่มีการประกาศไว้ ก็ป้องกันการปฏิบัติหน้าที่ของพวกเขาได้เต็มที่ เว้นแต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่สุจริต จึงแปลกใจว่าทำไมต้องออก พ.ร.ก.แบบเหมาเข่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่พรรคก้าวไกลรับไม่ได้และจะคัดค้านอย่างถึงที่สุด