ภายหลังราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ ห้ามเสนอข่าวอันเป็นเท็จ ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว กระทบต่อความมั่นคงรัฐ หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หากพบกระทำผิดดังกล่าว ให้อำนาจ กสทช.ควบคุม ระงับการให้บริการทางอินเทอร์เน็ตได้ โดยมีผลวันที่ 30 ก.ค.2564 เป็นต้นไปนั้น
รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า
หลังจากที่เคยมีผู้ทักท้วงข้อกำหนดฉบับที่ 27 (ข้อ 11) จนรองนายกรัฐมนตรีต้องออกมาชี้แจงว่า ห้ามเฉพาะการนำเสนอข้อมูลที่เป็นเท็จ วันนี้นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 โดยมีข้อห้ามแบบเดิมอีก ทำให้เห็นเจตนาที่แท้จริงของรัฐบาลว่าต้องการห้ามการนำเสนอข้อมูลใดๆ ที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะ “จริง” หรือ “เท็จ”
หากบังคับใช้กฎหมายในแนวทางนี้ การนำเสนอข่าว หรือ ข้อมูลที่เกี่ยวกับโรคระบาดไม่ว่าจะทำโดยสื่อมวลชน บุคคลทั่วไป แม้แต่หน่วยงานของรัฐ หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ จะกระทำมิได้เลย เนื่องจากข้อมูลที่เกี่ยวกับโรคระบาด ไม่ว่าในแง่มุมใด ก็อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวได้ด้วยกันทั้งสิ้น
ผลวิปริตเช่นนี้ คนทั่วไปก็บอกได้ว่าเป็นเรื่องที่ขัดต่อสามัญสำนึก ในขณะที่นักกฎหมายบอกได้ทันทีว่า เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และหลักการสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เพราะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพที่เกินสมควรแก่เหตุ และไม่ได้มุ่งคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ แต่เห็นได้ชัดว่า ต้องการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการวิพากษ์วิจารณ์การบริหารราชการที่ผิดพลาดของรัฐบาล
“ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ใช้สิทธิและเสรีภาพโดยสุจริต ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 29 นี้ จึงควรปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของตน ด้วยการร้องขอให้ศาลยุติธรรมประกาศว่ากฎหมายลำดับรองฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ” คณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ. ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2560 มาตรา 34 บัญญัติว่า
“บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน
เสรีภาพทางวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น”
ขณะที่ มาตรา 26 บัญญัติว่า “การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย
กฎหมายตามวรรคหนึ่ง ต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง”