อดีตขุนคลัง เตือนสู้กับโควิดมั่วซั่ว ระวังวิกฤตจะกลายเป็น "วิบัติ"

26 ก.ค. 2564 | 16:28 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.ค. 2564 | 23:48 น.
1.2 k

อดีตขุนคลัง โพสต์เฟสบุ๊ค เตือนรัฐบาล "ไม่อยากเห็นวิกฤตกลายเป็นวิบัติ" ระบุประเทศไทยตกต่ำและเละเทะกว่าใครทุกด้าน ชี้วิกฤต จากเศรษฐกิจที่ทรุดต่อเนื่อง ตัวเลขคนตายจากโควิดพุ่ง ทิ้งท้ายให้คิด ถ้ารัฐบาลไม่ยี่หระ คนไทยทั้งชาติอาจต้องเผชิญวิบัติ-รัฐบาลล้มเหลว

วันที่ 26 ก.ค. 2564  นายสมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง   โพสต์เฟสบุ๊ค โดยมีข้อความว่า 

 

"ไม่อยากเห็นวิกฤตกลายเป็นวิบัติ"

 

วิกฤตของไทยวันนี้ เป็นสิ่งที่คนไทยเองไม่เคยพบเคยเห็น สื่อต่างประเทศและสถาบันการเงินการคลังระหว่างประเทศที่มองเราอยู่ไม่เข้าใจว่าไทยเกิดวิกฤตอย่างนี้ได้อย่างไร ไม่ว่าจะมองในมิติใดก็ตาม ประเทศไทยตกต่ำและเละเทะกว่าใครเขาทุกด้าน ผมจะยกเรื่องที่สำคัญๆมาให้ฟังสัก 3 เรื่อง

 

1. เรื่องเศรษฐกิจ ปี 2564 นี้ มีการปรับการคาดการณ์จากทุกสำนักว่า GDP ของไทยปีนี้แทนที่ต้นปีคาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 3 – 4 % แต่จะไปได้จริงแค่ 1.5 % เทียบกับปี 2563 ที่ติดลบหรือหดตัว 6.1 % ดูให้ดีนะครับ ปี 2563 GDP ติดลบหรือหดตัวลงเป็นหุบเหวถึง – 6.1 % ถ้าปีนี้ขยายตัว 1.5 % แปลว่า GDP ของไทยปีนี้จะไต่เต้าขึ้นมาได้สูงกว่าก้นเหวนิดเดียวเท่านั้นเอง ปี 2565 ต้องไต่เต้าขึ้นมาอีก 4.5 % เป็นอย่างน้อยจึงจะถึงปากเหว เหนื่อยแน่ครับ

 

เมื่อ GDP ขยายตัวไม่ได้ดังที่คาดหมายของทางการ สิ่งที่จะเกิดตามมาคือการเพิ่มความกดดันให้ทุกภาคส่วน อัตราส่วนของหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่ว่าจะไม่เกิน 60 % ของ GDP ก็จะได้เห็นในเวลาไม่กี่เดือนข้างหน้าว่าต้องทะลุ 60 % อัตราหนี้ครัวเรือนเมื่อสิ้นไตรมาสแรกปีนี้ ซึ่งอยู่ที่ 90.5 % ของ GDP แทนที่จะลดตามคำสั่งของผู้นำ ก็จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยเป็น 92, 93, 94 % ให้เห็นจะๆ 

 

ถ้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะเปิดเผยตัวเลขทางเศรษฐกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้องออกมาสู่สาธารณชนอย่างตรงไปตรงมาแบบยังสำนึกได้ว่า เงินเดือนที่ได้รับอยู่มาจากภาษีของประชาชนที่ต้องทนลำบากกันถ้วนหน้า เราก็คงจะได้เห็นตัวดัชนีทางเศรษฐกิจแทบทุกตัวกำลังดิ่งลงไปสู่ความตกต่ำทั้งนั้น ป่วยการที่จะมาถามว่าแล้วจะแก้เศรษฐกิจตกต่ำกันอย่างไร เวลานี้มีทางเดียวเท่านั้นที่จะแก้ได้ ก็คือสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่กำลังเรียกร้องกันสนั่นเมืองอยู่ทุกวันนี้นั่นแหละ

 

2. เรื่องการต่อสู้กับโควิด-19 ของรัฐบาล ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้กำหนดไว้ชัดเจนให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนทุกระดับชั้นอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องดูแลด้านสาธารณสุขของประชาชนตามมาตรา 47 ที่ได้บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” 

 

แต่เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 เราคนไทยทั้งหลายก็ได้รู้เห็นกันชัดเจนว่า การเข้าแก้ไขปัญหาโควิด-19 ในช่วงร่วมสองปีที่ผ่านมาของรัฐบาลนี้ได้ใส่ใจดูแลประชาชนคนไทยแค่ไหน ประชาชนทุกสาขาอาชีพจะยากดีมีจนแค่ไหนก็ได้เห็นกันเต็มตาแล้วว่า รัฐบาลนี้มีปัญญาป้องกันและขจัดโรคติดต่อกันแค่ไหน การพูดเรื่องวัคซีนเลอะเทอะแบบแก้ตัวไปวันๆ การป้องกันการระบาดของโรคร้ายเป็นอย่างไรไม่ต้องพูด ตัวเลขการเพิ่มขึ้นของคนติดเชื้อและคนป่วยตายแต่ละวันที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทุกวันนี้มันฟ้องอยู่แล้ว 

นายสมหมาย ภาษี อดีตรมว.การคลัง

 

ลองหันไปดูในต่างประเทศกันบ้าง จะเห็นได้ชัดว่าเขาต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 กันอย่างไร ผมได้ฟังการบอกเล่าจากเพื่อนคนไทยที่อยู่ในประเทศเยอรมนีมานานปี ฟังได้ว่าที่เยอรมนี อังเกลา แมร์เคิล
 

ผู้นำหญิงที่ได้รับการศรัทธาและยกย่องจากประชาชนของเขาอย่างมากมายาวนานถึงสี่สมัยของการเลือกตั้งติดต่อกัน 16 ปี ตอนนี้ผู้นำได้ทำให้ประเทศเขาผ่านวิกฤตโควิด-19 จากเมื่อช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคม ที่ผ่านมา ที่มีการติดเชื้อระบาดรายวันหลักหมื่น แต่ขณะนี้มีแค่หลักร้อยเท่านั้น 

 

ความสำเร็จของการต่อสู้กับโควิด-19 ของผู้นำเยอรมนี มี 3 ประการเท่านั้น คือ ประการแรก ผู้นำกล้าออกมารับความผิดพลาดและขอโทษต่อประชาชนทุกครั้งที่ได้ตัดสินใจกระทำผิดพลาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการล็อกดาวน์ประเทศล่าช้าจนทำให้เกิดการระบาดในระลอกใหม่ หรือการใช้วัคซีนผิดพลาดจนต้องเปลี่ยนวัคซีน 

 

ประการที่สอง รัฐจัดระบบการตรวจได้ทั่วถึง มีการตรวจเชิงลึกและเพิ่มจุดตรวจมาก  ยอมให้ประชาชนซื้อชุดตรวจราคาถูกมาตรวจเองที่บ้าน ทำให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงไม่ต้องออกจากบ้านไปตรวจ เป็นการลดของการแพร่ระบาดอย่างมาก 

 

และ ประการที่สาม คือ มาตรการล็อกดาวน์ที่ยาวนานถึง 6 เดือน และทำการเยียวยาประชาชนอย่างจริงจัง มีการจัดหาวัคซีน เช่น โมเดิร์นนา และไฟเซอร์ มาฉีดให้ประชาชนอย่างรวดเร็วและทั่วถึง สามารถฉีดเข็มแรกได้ 90 % ของประชากรในเวลาอันสั้น 

 

ที่สำคัญคือ มีการตัดงบประมาณด้านอื่นๆ ที่ไม่ค่อยจำเป็นมากมาใช้ในการเยียวยา ไม่ใช่เอาแต่กู้เงินเป็นล้านล้านบาทแบบไทย จึงทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ เห็นใจ และให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอย่างเต็มที่จนรัฐบาลประสบความสำเร็จ นี่คือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแบบตรงไปตรงมาของประเทศเยอรมนี มันช่างต่างกับรัฐบาลไทยอย่างฟ้ากับดิน

 

3. ประเทศจะวิบัติไหม เมื่อดูการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล และได้เห็นตัวเลขเศรษฐกิจที่ทรุดลงเร็วทุกวัน กับได้เห็นการต่อสู้กับโควิด-19 ที่ผ่านมาอย่างมั่วซั่วเละเทะ ก็ต้องมาคิดถึงสิ่งที่คนไทยทั้งชาติอาจจะต้องเผชิญกับความวิบัติและรัฐบาลล้มเหลว ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนไม่อยากจะเห็น

 

เมื่อมาถึงขั้นนี้ บรรดานักธุรกิจและผู้รู้มากคนมักจะถามว่าตอนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 2540 นั้น รุนแรงเหมือนตอนนี้ไหม ผมซึ่งนั่งทำงานอยู่ที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังซึ่งอยู่ตรงกลางที่ระเบิดทางเศรษฐกิจตก ขอเรียนว่าครั้งนั้นวิกฤตกระทบต่อสถานะของประเทศหนักในเรื่องการไม่มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไว้สำหรับการชำระหนี้เงินกู้ต่างประเทศที่มีจำนวนมากมาย ได้กระทบต่อพ่อค้าและนักธุรกิจที่กู้ทั้งเงินดอลลาร์และเงินบาทมาสร้างฟองสบู่จนล้มคว่ำไปทั่ว เพราะรัฐบาลต้องลอยตัวค่าเงินบาททำให้บาทอ่อนตัวลงเกือบเท่าตัว จากดอลลาร์ละ 26 – 27 บาท เป็นประมาณ 50 บาท แต่สำหรับประชาชนคนจนไม่ทุกข์ทรมานและอดอยากปากแห้งจนถึงกับต้องตายข้างถนน จนถึงกับเจ็บป่วยแล้วโรงพยาบาลไม่มีเตียงรับ และจนถึงกับเตาเผาศพรับไม่ไหวเหมือนตอนนี้ 

สิ่งที่สมัยวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งกับวิกฤตโควิด-19 แตกต่างกันอย่างมาก คือ การใช้จ่ายและการจัดงบประมาณภาครัฐ สมัยต้มยำกุ้งประเทศหมดอิสรภาพทางการเงินการคลังเพราะถูกกำกับดูแลและควบคุมโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) อย่างประชิดตัว นอกจากวางตัวเจ้าหน้าที่ให้กำกับควบคุมอยู่ในบ้านเราแล้ว IMF จะส่งคณะผู้กำกับดูแลจากสำนักงานใหญ่ที่วอชิงตัน ดี ซี มาพบตั้งแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  และหน่วยงานเศรษฐกิจไทยทุก 45 วัน หรืออย่างช้าไม่เกิน 3 เดือน

 

สมัยนั้น ภาครัฐถูกควบคุมเรื่องการเงินการคลังโดย IMF อย่างเหนียวแน่น รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังไม่สามารถกู้เงินพิเศษโดยการออกพระราชกำหนดมาใช้เป็นล้านล้านบาทเหมือนสมัยนี้ได้ การตั้งงบประมาณในปีงบประมาณ 2541 - 2542 รัฐบาลต้องรัดเข็มขัดลงมาถึงรูสุดท้าย ไม่เหมือนงบประมาณปี 2564 ที่ผ่านมา และปี 2565 ที่กำลังอภิปรายกันในคณะกรรมาธิการแปรญัตติงบประมาณตอนนี้ โดยสมาชิกผู้ทรงเกียรติที่ประชาชนได้เลือกตั้งเข้ามา ที่ได้อภิปรายกันเหมือนประเทศอยู่ในภาวะปกติ

 

รัฐบาลที่ท่านชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ไม่ต้องรอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสื่อออกมาเรียกร้องใดๆ ท่านได้ส่งท่านรัฐมนตรีคลังของท่าน ซึ่งมีผมติดตามไปด้วย ให้บินไปวอชิงตัน ดี ซี เพื่อขอพบกับประธานาธิบดีบิล คลินตัน ซึ่งเป็นการนัดหมายเป็นกรณีพิเศษมาก เพื่อเจรจาให้ไทยขอยกเลิกสัญญาซื้อฝูงบินขับไล่ F18 จากสหรัฐ ซึ่งสัญญานั้นได้มีการสั่งซื้อและวางเงินมัดจำไว้ในสมัยรัฐบาลก่อนนั้น ผลของการเจรจารัฐบาลสหรัฐยอมตามที่ขอ เพราะเห็นใจกับการต้องเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งของไทย ส่วนมัดจำที่วางไว้เขาก็ไม่ริบ แต่ให้ใช้ซื้ออาวุธอื่นแทนได้

 

อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีคนอดอยากและล้มตายด้วยโรคร้ายที่ระบาดเพิ่มขึ้นทุกวันจนไทยพุ่งติดอันดับที่ 47 ของโลก แต่ดูเหมือนรัฐบาลนี้กลับไม่ยี่หระกับผลของการระบาดของโควิด-19 สักเท่าใด แต่กลับมีการนำเสนอของบซื้อเรือดำน้ำอีก 2 ลำ เข้าไปในงบประมาณปี 2565 ซึ่งตามข่าวว่าท่านนายกสั่งให้ถอนเรื่องไปแล้ว แต่เข้าใจว่าคงเป็นการเลื่อนไปของบปีหน้า ซึ่งปีหน้าเศรษฐกิจก็ยังไม่พ้นปากเหวอยู่ดี นอกจากนี้ ยังมีการของบซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อไว้ใช้ควบคุมฝูงชนอีกด้วย การแสดงออกของรัฐบาลในการขอตั้งงบรายจ่ายดังกล่าวนี้ มันแสดงให้เห็นชัดเจนถึงการไม่ใส่ใจในการป้องกันรักษาชีวิตคนไทยของรัฐบาล คิดว่าคนไทยทนรับทุกอย่างได้หรือไง ไม่เห็นเงาของความวิบัติที่กำลังก่อตัวกันบ้างหรือครับ