ศาลนัดไต่สวน “ปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์”ยื่นฟ้อง 3 กรรมการ ผิด ม.157 วันที่ 8 ก.ย.นี้ 

20 ก.ค. 2564 | 11:51 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ค. 2564 | 18:59 น.

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง รับไต่สวนมูลฟ้อง คดี “ปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์” อธิบดี.ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ภาค 1 ยื่นฟ้อง 3 กรรมการสอบข้อเท็จจริง ผิด ม.157 นัดไต่สวน 8 ก.ย.นี้ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ค.2564 ที่ผ่านมา ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง  ศาลนัดฟังคำสั่งในชั้นตรวจฟ้องคดี ที่ นายปรเมษฐ์  โตวิวัฒน์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ปฏิบัติภารกิจชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยื่นฟ้อง นายอนุวัตร มุทิกากร ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, น.ส.มรกต วัฒนรุ่งเรืองยศ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ และ นายนรินทร์ ทองคำใส รองเลขานุการศาลฎีกา เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157

 

จากกรณีที่จำเลยทั้งสาม ในฐานะคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ตามคำสั่งสำนักงานศาลยุติธรรมที่ 333/2564 วันที่ 25 มี.ค. 2564 ลงนามโดยประธานศาลฎีกา สอบสวน นายปรเมษฐ์ โจทก์ ที่ถูกกล่าวหาว่าเข้าไปก้าวก่าย หรือ แทรกแซงการพิจารณาคดีหมายเลขดำที่ อท.48/2563 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 1

 

คำฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปได้ว่า วันที่ 25 มี.ค. 2564 สำนักงานศาลยุติธรรมมีคำสั่งที่ 333/2564  โดยประธานศาลฎีกา ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว มี นายอนุวัตร เป็นประธาน, น.ส.มรกต เป็นกรรมการ และ นายนรินทร์ เป็นกรรมการและเลขานุการ 

 

จำเลยทั้งสามมีหน้าที่สอบสวนพยานหลักฐาน และเสนอความเห็นเพื่อทราบข้อเท็จจริง หรือ พิสูจน์ความผิดของ นายปรเมษฐ์ ที่ถูกกล่าวหาว่าผิดวินัยร้ายแรง, ไม่ร้ายแรง, ไม่มีมูลความผิด หลังจากมีคำสั่งสำนักงานศาลยุติธรรม เมื่อวันที่ 25 มี.ค. พบว่า วันที่ 26 มี.ค.จำเลยทั้งสามร่วมเดินทางไปสอบพยานหลักฐานที่ศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบ ภาค 1

 

ต่อมาวันที่ 31 มี.ค. นายนรินทร์ โทรศัพท์มาแจ้ง นายปรเมษฐ์ ว่า ให้มาชี้แจงกับกรรมการในวันที่ 1 เม.ย. เพราะ นายอนุวัตร เข้าเวรที่ศาลฎีกาในวันนั้น ซึ่งโดยปกติแล้วในการปฏิบัติราชการของกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในขั้นต้น ต้องมีหนังสือแจ้งนัดโจทก์/ผู้ถูกล่าวหาเข้าชี้แจง และควรได้รับทราบประเด็นร้องเรียน เพื่อให้สามารถรวบรวมพยานหลักฐานประกอบการชี้แจง และเข้าสืบแก้ในข้อที่เป็นผลร้ายต่อตนเอง

 

ต่อมาวันที่ 1 เม.ย. วันนัด โจทก์ปวดท้องมาก มีผู้พิพากษามารายงานตัวและขอพบหลายคน เมื่อเสร็จภารกิจจึงไปพบแพทย์ที่ รพ.สระบุรี แพทย์มีหนังสือความเห็นว่า ตนเป็นกระเพาะอาหารอักเสบ ควรพักผ่อนในวันที่ 1-2 เม.ย. และก่อนหน้านั้นคือ วันที่ 29 มี.ค. ตนไป รพ.ราชวิถี เพราะปวดท้องแพทย์นัดให้ไปรังสีวินิจฉัยวันที่ 12 พ.ค.ด้วย 

 

โดยตนทำหนังสือลาป่วยของวันที่ 29 มี.ค. และวันที่ 1-2 เม.ย.ต่อประธานศาลฎีกาแล้ว หลังตนพบแพทย์ที่ รพ.สระบุรี ได้โทรศัพท์ติดต่อนายนรินทร์ หลายครั้ง แต่ นายนรินทร์ บล็อกโทรศัพท์ ตนต้องการไปชี้แจงต่อกรรมการซึ่งเป็นจำเลยทั้งสามในคดีที่ฟ้องร้องนี้ เพราะตนต้องการทราบว่าผู้ใดร้องเรียนและมีประเด็นใดบ้างเพื่อที่จะได้ทราบสืบแก้ได้ถูกต้อง

 

วันที่ 2 เม.ย. ตนพยายามติดต่อ นายนรินทร์ หลายครั้ง แต่โดนบล็อกโทรศัพท์ จึงติดต่อนายอนุวัตร นายอนุวัตร ตอบว่ามีความเห็นไปแล้ว ตนจึงแจ้ง นายอนุวัตร ว่า ตนยังไม่ได้ชี้แจง ไม่ทราบประเด็นการร้องเรียนที่จำเลยทั้งสามสอบสวนและมีผลร้ายแก่ตน นายอนุวัตร ให้ติดต่อ นายนรินทร์ เลขานุการของตนแจ้ง นายอนุวัตร ว่า ตนโทรศัพท์หา นายนรินทร์ หลายครั้งแต่ติดต่อไม่ได้ จากนั้นยังติดต่อ นายนรินทร์ แต่โดนบล็อกโทรศัพท์

 

ตนยังพร้อมไปพบกรรมการและชี้แจง เพราะต้องการทราบประเด็นข้อร้องเรียน หากได้เข้าชี้แจงต่อกรรมการ และหากกรรมการให้ความเป็นธรรมแก่ตน ก็จะทราบความจริงว่าเป็นกรณีที่ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชธรรมนูญศาลยุติธรรม และบทบัญญัติกฎหมาย ไม่ได้แทรกแซงการพิจารณาคดีของผู้พิพากษาผู้ใต้บังคับบัญชาแต่อย่างใด

 

ตอนเกิดเหตุตนเป็นเจ้าของคดีหมายเลขดำที่ อท.48/2563 มีความเป็นอิสระในการพิพากษาคดี จำเลยทั้งสามได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการในกรณีของตน ต้องสอบสวนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้นฯ เมื่อเสร็จสิ้นการสอบสวนขั้นต้น หากผู้ถูกสอบสวนถูกกล่าวหาและเป็นผลร้ายโดยไม่มีโอกาสชี้แจง หากมีกรณีเช่นนี้ต้องให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงก่อน

 

ดังนั้น กรณีนี้เป็นการกระทำสอบสวนของกรรมการทั้งสามอย่างเร่งรีบ รวบรัด ด่วนสรุปความเห็นเพียงไม่กี่วันหลังได้รับเป็นกรรมการ หากตนได้เข้าชี้แจงเข้าสืบแก้ผลร้ายแก่ตนตามสิทธิและหลักกฎหมายกับกรรมการทั้งสามนั้น กรรมการจะสอบสวนโดยไม่เร่งรีบ ดังนั้น กรรมการทั้งสามที่เป็นจำเลยคดีนี้ร่วมกันงดดำเนินการสอบสวนพยานหลักฐาน ด่วนสรุปความเห็น จึงไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติกฎหมาย และประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม

 

น่าสงสัยว่า เหตุใดจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำการดังกล่าว ทั้งๆ ที่เมื่อเสร็จสิ้นการสอบสวนชั้นต้นแล้ว จำเลยทั้งสามต้องพิจารณาว่ามีข้อเท็จจริงที่เป็นผลร้ายแก่ผู้ถูกกล่าวหา โดยผู้ถูกกล่าวหายังไม่ไดัชี้แจง จำเลยทั้งสามร่วมกันมีเจตนาไม่ดำเนินการสอบสวนให้เป็นไปตามกฎหมายและประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม

 

ต่อมา ตนมีหนังสือด่วนที่สุดถึงประธานศาลฎีกาและกรรมการชุดนี้เมื่อวันที่ 5 พ.ค. เพื่อขอความเป็นธรรม แต่ประธานศาลฎีกานำความเห็นชั้นต้นของจำเลยทั้งสามเสนอคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมเพื่อขอความเห็นชอบให้ตนไปปฏิบัติภารกิจชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมจึงทราบว่า ตนยังไม่ได้ชี้แจงตามที่ถูกกล่าวหา ทำให้ตนเสียหาย จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 81, 93

 

โดยนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา ผู้รับมอบฉันทะโจทก์ มาศาล

 

ศาลแจ้งให้ทราบว่า สำนักงานศาลยุติธรรมมีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงและจัดส่งเอกสาร รายละเอียดปรากฏตามหนังสือสำนักงานศาลยุติธรรม ด่วนที่สุด ที่ ศย 024/996 ฉบับลงวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ตรวจฟ้องและคำร้องขอแก้ไขเพิ่มฟ้องฉบับลงวันที่ 4 มิถุนายน 2564 และฉบับ ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 แล้ว ฟ้องเป็นไปตามพรบ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติ มิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง ให้นัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 8 ก.ย. 2564 เวลา 9.00 น.

 

โดยหมายนัดไต่สวนมูลฟ้อง พร้อมส่งสำเนาฟ้อง คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องดังกล่าว และเอกสารแจ้งสิทธิจำเลยในการต่อสู้คดีในชั้นไต่สวนมูลฟ้องตามกฎหมาย ทั้งมีสิทธิแถลงให้ศาลทราบถึงข้อเท็จจริง หรือ ข้อกฎหมายอันสำคัญที่ศาลควรสั่งว่าคดีไม่มีมูล

 

การส่งให้ส่งทางไปรษณีย์ตอบรับด่วนพิเศษ หากส่งไม่ได้ ให้โจทก์แถลงต่อศาลภายใน 7 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้ มิฉะนั้นถือว่าทิ้งฟ้อง 

 

และให้โจทก์ดำเนินการดังต่อไปนี้ภายใน 15 วัน นับแต่วันนี้ (19 ก.ค.64)

 

1.หากโจทก์ประสงค์จะระบุพยานเพิ่มเติม ให้ยื่นบัญชีระบุพยานชั้นไต่สวนมูลฟ้องเพิ่มเติมให้ครบถ้วน พร้อมคำแถลงเหตุผลความจำเป็นในการอ้างพยานและวิธีการได้มาซึ่งพยานนั้น


2.ส่งพยานเอกสารหรือพยานวัตถุที่ประสงค์จะอ้างอิงในชั้นไต่สวนมูลฟ้องต่อศาล เพื่อรวบรวมใช้เป็นแนวทางในการไต่สวนมูลฟ้องและการพิจารณาคดี หากโจทก์ประสงค์จะอ้างเอกสารในสำนวนซึ่งโจทก์หรือบุคคลภายนอกส่งมา ให้ระบุชัดเจนว่าเป็นเอกสารใดและมีที่มาอย่างไร


3.ในกรณีที่เป็นพยานเอกสารหรือพยานวัตถุใดอยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก ให้โจทก์ตรวจสอบสำนวนก่อนว่ามีพยานเอกสารหรือพยานวัตถุที่ประสงค์จะอ้างอิงหรือไม่ หากไม่มี ให้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกพยานหลักฐานดังกล่าวมาจากผู้ที่ครอบครองโดยแสดงเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องได้พยานหรือพยานวัตถุนั้นโดยละเอียด


4.เสนอแนวทางการไต่สวนพยานบุคคลที่จะนำเข้าไต่สวนมูลฟ้องว่าเบิกความเกี่ยวกับเรื่องใดโดยย่อ


5.ให้โจทก์ตรวจสอบหนังสือสำนักงานศาลยุติธรรม ด่วนที่สุด ที่ ศย 024/996 ฉบับลงวันที่ 21 มิถุนายน 2564 หากประสงค์จะโต้แย้งคัดค้านประการใด ให้ยื่นคำแถลงต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันนี้ หากไม่ดำเนินการภายในกำหนดให้ถือว่าไม่คัดค้าน

หากโจทก์ไม่ดำเนินการตามคำสั่งศาลในข้อหนึ่งข้อใด ให้ถือว่าไม่ดำเนินกระบวนพิจารณาภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ซึ่งถือเป็นเหตุทิ้งฟ้องได้
เพื่อให้การไต่สวนมูลฟ้องเป็นไปโดยสะดวกรวดเร็ว ถูกต้อง และได้ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนอันเป็นประโยชน์แก่การไต่สวนมูลฟ้อง จึงมอบหมายให้เจ้าพนักงานคดีช่วยควบคุม แนะนำคู่ความในการดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นไปตามกฎหมาย

 

หากมีข้อบกพร่องหรือขัดข้อง ให้รายงานต่อศาลพร้อมแนวทางแก้ไขและให้เจ้าพนักงานคดีตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อใช้เป็นแนวทางในการไต่สวนมูลฟ้อง แล้วจัดทำสรุปข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่สำคัญในคดี เพื่อให้ศาลใช้เป็นแนวทางในการไต่สวนมูลฟ้องก่อนวันนัดพร้อมเพื่อกำหนดแนวทางการไต่สวนมูลฟ้องไม่น้อยกว่า 7 วัน

 

โดยให้นัดพร้อมเพื่อกำหนดแนวทางการไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 26 ส.ค. เวลา 9.00 น. แจ้งวันนัดนี้ให้จำเลยทั้งสามทราบพร้อมกับหมายนัดไต่สวนมูลฟ้อง
มีหนังสือสอบถามพร้อมส่งสำเนาคำฟ้องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะกรรมการ ป.ป.ท. เพื่อตรวจสอบว่ามีการกล่าวหาจำเลยทั้งสามในเรื่องเดียวกันกับที่โจทก์ยื่นฟ้องหรือไม่ แล้วแจ้งให้ศาลทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ

 

เนื่องจากศาลมีคำสั่งรับฟ้องไว้ไต่สวนมูลฟ้อง จึงมีคำสั่งรับบัญชีพยานโจทก์ที่ยื่นต่อศาลเมื่อวันที่ 3 ก.ค.2564 สำเนาให้จำเลยทั้งสามพร้อมกับหมายแจ้งนัดไต่สวนมูลฟ้อง

 

สำหรับกรณีนี้ นายปรเมษฐ์ ถูกร้องเรียนกล่าวหาว่า เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการพิจารณาคดีหมายเลขดำ ที่ อท.84/2563 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ที่นายประหยัด พวงจำปา อดีตรองเลขาธิการ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. , น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. และนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นจำเลยที่ 1-3 ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จึงถูกย้ายไปช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตามคำสั่งลับที่ 333/2564 ลงวันที่ 25 มี.ค. 2564 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเเละผลสอบสวนระบุให้ย้ายนายปรเมษฐ์ไปปฏิบัติภารกิจชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1