แฉเบื้องหลัง“สภาล่ม”พรรคร่วมรัฐบาลขัดแย้ง ร่างพรบ.วัตถุอันตราย

02 ก.ค. 2564 | 14:07 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.ค. 2564 | 01:20 น.
3.0 k

เบื้องหลัง “สภาล่ม” ระหว่างพิจารณาร่างพ.ร.บ.วัตถุอันตราย เหตุจากความขัดแย้ง ระหว่าง ภูมิใจไทย กับ พลังประชารัฐ พรรคภท.อยากให้นำยาบางตัวกลับมาใช้ จึงเกิดการประลองกำลังกันขึ้น

ผลจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ เมื่อ 30 มิถุนายน 2564 เป็นวาระการพิจารณา ร่างพ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่) พ.ศ. …   ไม่สามารถเดินหน้าประชุมได้  เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ ขณะที่ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ชี้ว่าเหตุที่สภาฯ ล่ม เป็นเพราะเทคนิคในการคัดค้านกฎหมาย

 

 

สภาล่มครั้งนี้ จึงกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เพราะไม่มีเหตุผล หรือ ไม่มีที่มาที่ไป หากแต่แท้ที่จริงแล้วเบื้องหลังลึกๆ เกิดจากความขัดแย้งกัน ในเรื่องร่างพ.ร.บ.วัตถุอันตราย ของพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง

 

 

“มีการสั่งให้ล่ม จงใจให้ล่ม เพราะยังมีความขัดแย้งกัน ในเรื่องพ.ร.บ.วัตถุอันตราย เป็นการขัดแย้งกันระหว่างพรรคภูมิใจไทย กับ พรรคพลังประชารัฐ เพราะพรรคภูมิใจไทย อยากให้นำยาบางตัวกลับมาใช้ จึงเป็นการประลองกำลังกันเพื่อให้สภาล่ม” แหล่งข่าวระดับสูงในพรรคร่วมรัฐบาลกล่าว 
 

 

หากย้อนดูปฎิกิริยา ที่เกิดขึ้นหลังเกิดเหตุสภาล่ม จะเห็นว่าแม้แต่ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ยังตั้งข้อสังเกตถึงเหตุสภาฯ ล่ม ว่า ในระหว่างการประชุมวาระพิจารณร่างพ.ร.บ.วัตถุอัตราน ในวันนั้น มีส.ส.เข้าชื่อครบองค์ประชุม แต่ไม่ครบจำนวนทำให้การประชุมต้องยุตินั้น

 

เพราะมีความเห็นขัดแย้ง ของส.ส. และหาข้อยุติไม่ได้ว่าจะถอนหรือลงมติ ในร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยวัตถุอันตราย ทำให้ ส.ส.ส่วนหนึ่งเสนอให้ทบทวนร่างกฎหมายจึงไม่แสดงตน เพราะเกรงว่าลงมติแล้วจะมีปัญหา โดยส.ส.ส่วนใหญ่อยู่ในที่ประชุมแต่ไม่แสดงตน เพราะไม่อยากให้มีการลงมติใน “มาตรา 6”

     

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

ความเห็นของนายชวน สอดคล้องกับการตั้งข้อสังเกตของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่กล่าวว่า เหตุสภาล่ม ไม่แน่ใจว่า ส.ส.กลัวโควิด หรือ ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายวัตถุอันตรายกันแน่ เนื่องจากมีหลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 6 ของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ จึงดึงกันไปมา 

 

อย่างไรก็ดี นายวิษณุ ไม่ให้ความเห็นกรณีร่างเดิมของรัฐบาลกำหนดให้ "3 สารเคมี" สามารถกลับมาใช้ได้หรือไม่ แต่เลี่ยงตอบว่า ได้ยินมาว่ากระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังทำงานกันอยู่
 

ส่วนประเด็นที่ประธานวิปรัฐบาลระบุว่าเหตุที่สภาฯล่ม เป็นเพราะเทคนิคในการคัดค้านกฎหมายนั้น นายวิษณุ มองว่า เหมือนการประชุมสภาฯ เวลาคนไม่เห็นด้วยก็ใช้วิธีวอล์กเอาท์ หรือ ใช้วิธีเดินออกกันแล้วนับองค์ประชุม เป็นเทคนิคของสภาฯ ไม่ได้เป็นเรื่องตื่นเต้นอะไร แต่ถ้าเป็นกฎหมายสำคัญเป็นแบบนี้ จะเป็นเรื่องใหญ่ 

 

“แต่กรณีนี้อาจจะไม่ใช่กรณีสำคัญ เพราะมีการถกเถียงมาหลายครั้ง และผมยังนึกในใจว่าแม้จะไม่มีโควิด แต่ถ้ายอม หรือ ไม่ยอมกันขึ้นมา ก็อาจมีการวอล์กเอาท์เกิดขึ้นได้”

 

อย่างไรก็ดี นายวิษณุ ยืนยันว่า กฎหมายดังกล่าวไม่กระทบรัฐบาล เพราะผ่านวาระที่ 1 แล้ว ถ้าตกก็ต้องตกตั้งแต่วาระแรก เรื่องนี้ไม่มีกฎหมายบังคับ แต่เป็นมารยาทและธรรมเนียมที่ถือมา เหมือนกรณีถ้าสภาฯ ไม่ไว้วางใจรัฐบาลก็ต้องหาทางออก เช่น ลาออก หรือ ยุบสภา

 

ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้ "สภาล่ม" เป็นเพราะอุปสรรคจากการเดินทางของ ส.ส. เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้จำนวนเที่ยวโดยสาร เช่น เครื่องบินมีจำนวนจำกัด ซึ่งตนพยายามประสานกับ ส.ส. ของพรรค พปชร. ทุกภาคให้กลับมาประชุมสภาให้ทัน แต่ส่วนใหญ่มาไม่ทัน

 

 

“โดยจิตสำนึกของ ส.ส. เป็นผู้แทนประชาชน ต้องไม่มีการโดดสภา ไม่ใช่ความบกพร่องของประธานวิปรัฐบาล (นายวิรัช รัตนเศรษฐ) ทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว เป็นผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้เดินทางมาไม่ทัน คงไม่มีการคาดโทษ ส.ส.พรรค พปชร. เพราะเราเข้าใจกัน”
 

สำหรับ ร่างพ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ....  มีหลักการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย  พ.ศ. 2535  เหตุผลการพิจารณาวัตถุอันตรายมีความซับซ้อน ทำให้มีความจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่มีความรู้ความสามารถในเชิงลึกเพื่อดำเนินการดังกล่าว

 

 

จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกระบวนการพิจารณาวัตถุอันตราย โดยให้มีผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวเพื่อให้การพิจารณาวัตถุอันตราย มีความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
 

 

ส่วนมาตรา 6 ของพ.ร.บ.วัตถุอัตราย พ.ศ. 2535 ที่มองว่า เป็นชนวนเหตุของความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล มีข้อความระบุว่า 
 

ให้มีคณะกรรมการวัตถุอันตรายคณะหนึ่ง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานกรมการ  อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมโยธาธิการ  อธิบดีกรมตำรวจ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เลขาธิการคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ  

 

เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เลขาธิการสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และ ผู้แทนกระทรวงกลาโหม และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งไม่เกินเจ็ดคน เป็นกรรมการ 
 

และอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นกรรมการและเลขานุการ และ ผู้แทนกรมโยธาธิการ ผู้แทนกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้แทนกรมวิชาการเกษตร ผู้แทนสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ และ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นผู้ช่วยเลขานุการกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

 

ส่วนที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ มีผลงาน และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาเคมีวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ หรือ กฎหมาย และอย่างน้อยสองคนให้แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ดำเนินงานในองค์การสาธารณประโยชน์เพื่อการคุ้มครองสุขภาพอนามัย หรือสิ่งแวดล้อม