ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในวงการสีกากีเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลไบโอเมทริกซ์ วงเงิน 2,116 ล้านบาทของ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และมีการเผยแพร่หนังสือที่ “บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล” ที่ปรึกษาพิเศษสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนั้นเป็น ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) แจ้งไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อขอให้บอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลงโครงการนี้ รวม 6 หน้า ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561
เอกสารฉบับนี้ได้ระบุถึงการทำสัญญาซื้อขายโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบพิสูจน์บุคคลแบบลายพิมพ์นิ้วมือและภาพถ่ายใบหน้า ซึ่งเป็นโครงการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช) โดยสำนักงานส่งกำลังบำรุง (สกบ.) กับ กิจการค้าร่วม เอ็มที ซึ่งมี บริษัท เอ็มเอสซี สิทธิผล จำกัด เป็นผู้แทนหลัก ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 แบ่งออกเป็น 6 งวด ซึ่งพบว่า งวดที่ 1-4 เลยกำหนดการส่งมอบออกมาทุกครั้ง และไม่ปรากฏว่ามีการขออนุมัติปรับแผนการดำเนินการใหม่
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ในฐานะผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในขณะนั้น ได้ทำหนังสือเพื่อพิจารณาให้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโครงการดังกล่าว เนื่องจากพบว่า มีปัญหาต่างๆมากมาย อาทิ ความล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผนการส่งมอบงานที่ได้ทำสัญญากันไว้ ทั้งยังมีปัญหาเรื่องการเชื่อมต่อระหว่างระบบไบโอเมทริกซ์ กับระบบสารสนเทศตรวจคนเข้าเมือง ที่ไม่สามารถดำเนินการใช้งานได้จริง เป็นต้น จึงเห็นสมควรให้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาซื้อขายโครงการฯ ดังกล่าว
“ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบข้อมูลจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท เอ็มเอสซี สิทธิผล จำกัด บริษัทที่ถูกระบุว่า เป็นผู้แทนหลัก พบว่าบริษัทดังกล่าวจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2546 ทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท กรรมการบริษัท ประกอบด้วย
1.นายศรายุทธ ณ ศิลา 2.นางสาวปาริชาต รุ่งกำจัด 3.นางสาวพิมพ์สุดา พรพิชิตนาวี และ4.นายพงษ์ศักดิ์ ภักดิ์ศรานุวัต โดยนายศรายุทธ ณ ศิลา ลงลายมือชื่อและประทับตราบริษัท นางสาวปาริชาต รุ่งกำจัด หรือ นางสาวพิมพ์สุดา พรพิชิตนาวี หรือ นายพงษ์ศักดิ์ ภักดิ์ศรานุวัต โดย 2 ใน 3 คนนี้ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราของบริษัท
วัตถุประสงค์ตอนแจ้งจดทะเบียน ระบุว่า ซื้อ ขาย นำเข้า ซ่อมเครื่อง เครื่องชั่ง ตวง วัด หรือ ให้บริการชั่ง ตวง วัด
วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด ซื้อและจำหน่ายเครื่องมืออิเล็คทรอนิคส์ให้เช่าทรัพย์สิน
ปรากฏข้อมูลงบกำไรขาดทุนปีระหว่าง 2559-2561 ดังนี้ ปี 2559 มีรายได้รวม 41,346,023.24 บาท รายจ่ายรวม 36,103,286.77 บาท กำไรสุทธิหลังหักภาษี 3,032,484.45 บาท
ปี 2560 รายได้รวม 150,337,524.69 บาท เพิ่มขึ้น 263.60% รายจ่ายรวม 116,936,863.61 บาท เพิ่มขึ้น 223.89% กำไรสุทธิหลังหักภาษี 17,229,627.09 บาท เพิ่มขึ้น 468.16%
ส่วนปี 2561 หลังจากทำสัญญากับสตช.แล้ว บริษัทมีรายได้รวม 638,408,430.49 บาท เพิ่มขึ้น 324.65% รายจ่ายรวม 582,721,756.73 บาท เพิ่มขึ้น 805.99% กำไรสุทธิหลังหักภาษี 23,116,684.61 บาท เพิ่มขึ้น 34.16%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง