3 บิ๊กธุรกิจ ประสานเสียง ชูไทยทำเลทอง เปิดโอกาสรับนักลงทุนทั่วโลก

20 พ.ย. 2567 | 18:29 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ย. 2567 | 19:31 น.

3 นักธุรกิจแถวหน้าย้ำบทบาทของไทยในภูมิภาคอาเซียน พร้อมแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจและธุรกิจในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก โดยเฉพาะการเปิดรับนักลงทุนทั่วโลกเข้ามาลงทุน

วันนี้ (20 พฤศจิกายน 2567) ในการประชุม Forbes Global CEO Conference มีการเสวนาในหัวข้อ “Thailand Now-And Next” โดยมีนักธุรกิจชั้นนำร่วมวงเสวนา ได้แก่ นายศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานอาวุโสและประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี) และประธานกรรมการบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ นายปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด

นายชาติศิริ โสภณพนิช ได้กล่าวถึงศักยภาพการเติบโตของอาเซียนในฐานะภูมิภาคเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่น่าจับตามอง โดยเชื่อว่าในอนาคตอาเซียนจะก้าวขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการปรับโครงสร้างซัพพลายเชนระดับโลก

“การลงทุนในอาเซียนไม่ได้เป็นแค่โอกาสของภูมิภาค แต่ยังเป็นโอกาสสำคัญของไทยในการปรับตัวเพื่อสร้างความยั่งยืน โดยเฉพาะการดึงดูดการลงทุนในแนวทาง ESG (Environment, Social, Governance) ซึ่งจะกลายเป็นแม่เหล็กที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจไทยในระยะยาว” นายชาติศิริกล่าว

และชี้ว่าในช่วง 2 ปีข้างหน้าเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับประเทศไทยที่จะต้องใช้โอกาสจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกมิติ ตั้งแต่การยกระดับกระบวนการทำงานในองค์กร ไปจนถึงการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับลูกค้าและผู้บริโภค

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กล่าวว่า ประเทศไทยยังคงเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการลงทุนอย่างมาก เนื่องจากจุดยืนที่เป็นกลางในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ โดยมองว่า “ประเทศไทยเป็นเหมือนสวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชียที่สามารถเชื่อมโยงทั้งจีนและสหรัฐได้”

อีกทั้งยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างซัพพลายเชนในภูมิภาค เพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจโลก เช่น จีนและสหรัฐ ทั้งนี้เครือซีพียังได้กระจายการลงทุนไปยัง 21 ประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย จีน อาเซียน ยุโรป สหรัฐ และรัสเซีย โดยมุ่งเน้นธุรกิจหลักในกลุ่มเกษตรและอาหาร เพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นในช่วงเวลาที่โลกเผชิญกับการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ

“การปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงเป็นหัวใจสำคัญ โดยเฉพาะการเรียนรู้และเปิดกว้างต่อเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น AI ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพทั้งในด้านนวัตกรรม การพัฒนาสินค้า และการบริหารจัดการในองค์กร อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลจำเป็นต้องเริ่มต้นจากวิสัยทัศน์ของผู้นำ พร้อมทั้งการพัฒนาความรู้ใหม่ในระดับผู้บริหาร การเปิดรับความร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีเพื่อเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงการเปิดใจรับฟังและเรียนรู้จากคนรุ่นใหม่" นายศุภชัยกล่าว

นายปณต สิริวัฒนภักดี มองว่าแม้ตัวเลขนักท่องเที่ยวจะยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แต่คุณภาพของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังไทยกลับส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภาพรวม นอกจากนี้ยังเน้นถึงบทบาทสำคัญของภาคโลจิสติกส์และอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศที่หลั่งไหลเข้ามา

“ประเทศไทยเปรียบเสมือนศูนย์กลางที่มีความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นความแข็งแกร่งในภาคการผลิต การท่องเที่ยว หรืออุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ โครงการวัน แบงค็อก บนถนนพระราม 4 เป็นตัวอย่างสำคัญที่สะท้อนถึงการเตรียมพร้อมของภาคธุรกิจไทยในยุคการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว” นายปณตกล่าวพร้อมเสริมว่า การลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น ระบบเซนเซอร์และกล้องวงจรปิดอัจฉริยะในโครงการดังกล่าว จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยและความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้งาน ตลอดจนสร้างมาตรฐานใหม่ในด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

ทั้งสามผู้นำยังเห็นพ้องกันว่าเทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกภาคส่วนของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร การตอบสนองต่อพฤติกรรมของลูกค้า หรือการลดต้นทุน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก