ฟิลิปปินส์สั่งอพยพประชาชน หนีซูเปอร์ไต้ฝุ่น "หม่านหยี่"

16 พ.ย. 2567 | 14:21 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ย. 2567 | 14:25 น.
972

ฟิลิปปินส์สั่งอพยพประชาชนหลายหมื่นคน หลังซูเปอร์ไต้ฝุ่นหม่านหยี่ (Man-Yi) จ่อขึ้นฝั่งค่ำนี้ หลายพื้นที่เสี่ยงต่อการเผชิญเหตุดินถล่ม น้ำท่วมฉับพลันและพายุคลื่นซัดฝั่ง

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ทางการฟิลิปปินส์ประกาศสั่งให้เรือทุกลำไม่ว่าจะเป็นเรือประมงหรือเรือบรรทุกน้ำมัน ให้กลับเข้าฝั่งและให้ประชาชนหลายหมื่นคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนตามแนวชายฝั่งอพยพออกจากบ้านเรือน เพื่อความปลอดภัยของตนเอง

เนื่องจากพายุไต้ฝุ่นหม่านหยี่ที่ขณะนี้มีกำลังลมกระโชกแรงถึง 215 กม./ชม. กำลังเคลื่อนตัวเข้าใกล้ประเทศฟิลิปปินส์ และคาดว่าจะพัดขึ้นฝั่งบริเวณจังหวัดคาตันดัวเนส ซึ่งเป็นเกาะที่มีประชากรอาศัยอยู่เบาบางของฟิลิปปินส์ในช่วงค่ำวันเสาร์ (16 พ.ย.) หรือวันอาทิตย์นี้

นายมาร์โล อิรินกัน ปลัดกระทรวงมหาดไทยของฟิลิปปินส์ เปิดเผยผ่านทางสถานีวิทยุ DWPM ในวันเดียวกันว่า มีประชาชนราว 225,000 คน ได้อพยพออกจากบ้านเรือนของตนเองแล้วในหลายพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเผชิญเหตุดินถล่ม น้ำท่วมฉับพลันและพายุคลื่นซัดฝั่ง

นอกจากนี้ ยังกล่าวร้องขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารและปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ตลอดจนให้อพยพออกจากบ้านเรือนโดยเร็วที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียชีวิตจากเหตุวาตภัยที่อาจเกิดขึ้น

ด้านหน่วยงานด้านภูเขาไฟวิทยาของฟิลิปปินส์ออกมาเตือนด้วยว่าอิทธิพลของไต้ฝุ่นหม่านยี่จะก่อให้เกิดฝนตกหนัก ซึ่งยังอาจกระตุ้นให้ตะกอนเถ้าถ่านจากภูเขาไฟ 3 ลูก รวมถึงภูเขาไฟตาอัล ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงมะนิลาไหลบ่าลงมาสร้างผลกระทบได้

ทั้งนี้ ไต้ฝุ่นหม่านหยี่นับเป็นพายุลูกที่ 6 ที่พัดถล่มประเทศฟิลิปปินส์ในรอบเดือนที่ผ่านมา ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 163 ราย และทำให้มีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยหลายพันคน ตลอดจนสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่เพาะปลูกและปศุสัตว์เป็นวงกว้าง

ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาของไทย ได้อัปเดตเส้นทางพายุไต้ฝุ่น "หม่านหยี่ (MAN-YI)" โดยมีศูนย์กลางบริเวณทางด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกเฉียงเหนือ คาดว่าจะเคลื่อนผ่านเกาะลูซอล ลงสู่ทะเลจีนใต้เช้าตรู่วันที่ 18 พ.ย.67 และเคลื่อนตัวทางตะวันตกเข้าใกล้เกาะไหหลำ และจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ

คาดว่าจะสลายตัวใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนาม พายุนี้ไม่มีผลกระทบกับประเทศไทย เนื่องจากเป็นช่วงที่มวลอากาศเย็นแผ่ลงมาปกคลุมทางตอนบนของภาคเหนือ ภาคอีสาน