จรวดจากเลบานอนถล่มชายแดนอิสราเอล ดับ 4 ชีวิตแรงงานไทย เจ็บสาหัส 1 ราย

01 พ.ย. 2567 | 13:50 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ย. 2567 | 14:15 น.

รายงานล่าสุดยืนยัน เหตุการณ์ความรุนแรง ฮิซบอลเลาะห์ยิงจรวดจากเลบานอนถล่มชายแดนอิสราเอล ดับ 4 ชีวิตแรงงานไทย เจ็บสาหัส 1 ราย

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนได้ยิงจรวดโจมตีเข้าไปในพื้นที่ภาคเหนือของอิสราเอล ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย รวมถึงแรงงานชาวไทยที่ทำงานอยู่ในบริเวณใกล้ชายแดนเลบานอน โดยกระทรวงการต่างประเทศของไทยยืนยันการสูญเสียชีวิตของคนไทยจำนวน 4 ราย และมีผู้บาดเจ็บสาหัสอีก 1 ราย

สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟได้รายงานว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นขณะที่คนงานไทยกำลังทำงานในสวนแอปเปิลใกล้เมืองเมทูลา ซึ่งอยู่ติดชายแดนเลบานอน โดยทางนายจ้างได้ขออนุญาตนำคนงานไทยเข้าไปทำงานในพื้นที่เป็นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนจะถูกจรวดจากฝั่งเลบานอนโจมตีใส่ ส่งผลให้ทั้งคนไทยและนายจ้างเสียชีวิต

จากการยืนยันล่าสุด มีรายชื่อคนไทยที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว ดังนี้ 

  • นายอรรคพล วรรณไสย มีภูมิลำเนาอยู่ที่ จ. อุดรธานี
  • นายประหยัด พิลาศรัมย์ มีภูมิลำเนาอยู่ที่ จ. บุรีรัมย์
  • นายธนา ติจันทึก มีภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.นครราชสีมา
  • นายกวีศักดิ์ ปาปะนัง มีภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.นครราชสีมา

ส่วนแรงงานไทยที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส ทราบชื่อคือ นายฉัตรชัย ศิลป์ประเสริฐ เป็นชาวจังหวัดชัยภูมิ ขณะนี้แพทย์และพยาบาลอยู่ระหว่างการช่วยชีวิตที่โรงพยาบาลเมืองไฮฟา

เครดิตภาพ Reuters

ด้าน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่า กระทรวงแรงงานได้รับทราบความคืบหน้ากรณีแรงงานไทยเสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บสาหัส 1 ราย จากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล และคนขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัวผู้เสียชีวิตและขอส่งกำลังใจให้ผู้บาดเจ็บอาการปลอดภัยดีขึ้นโดยเร็ววัน 

ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงแรงงาน ประสานทูตแรงงาน ที่กรุงเทลอาวีฟว่าให้ช่วยดูแลอพยพแรงงานทางภาคเหนือทั้งหมดให้อพยพไปทำงานทางภาคใต้ และสั่งให้ลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจครอบครัวของผู้เสียชีวิตเพื่อช่วยเหลือเยียวยา

จากรายงานของฝ่ายแรงงานฯ ทราบว่า เมืองเมตูลาเป็นหนึ่งในพื้นที่เสี่ยงอันตรายที่กองทัพอิสราเอลประกาศให้เป็นเขตปิดทางทหาร หลังเข้าไปปฏิบัติการทางทหารทางภาคพื้นดินในเลบานอน อย่างไรก็ดี ยังมีแรงงานไทยจำนวนหนึ่งไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่ แม้สถานเอกอัครราชทูตฯ และฝ่ายแรงงานฯ ออกประกาศเตือนหลายครั้งและพยายามขอให้ย้ายออกพื้นที่แล้วก็ตาม

"กระทรวงแรงงานขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตที่อิสราเอลทั้ง 4 ราย และขอส่งกำลังใจให้ผู้บาดเจ็บ 1 รายปลอดภัยอาการดีขึ้นโดยเร็ววัน กระทรวงแรงงานจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและดูแลพี่น้องแรงงานไทยอย่างดีที่สุด" นายพิพัฒน์ กล่าว

ด้าน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในส่วนของการดำเนินการที่ประเทศไทย ผมได้สั่งการให้ 5 เสือกระทรวงแรงงานจังหวัดนครราชสีมา อุดรธานี บุรีรัมย์ และชัยภูมิ ลงพื้นที่ไปเยี่ยมให้กำลังใจครอบครัว แรงงานไทยที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ พร้อมแจ้งข้อมูล และประสานอำนวยความสะดวกเพื่อให้ความช่วยเหลือทายาทให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย ส่วนการดำเนินการติดตามสิทธิประโยชน์ที่อิสราเอล ฝ่ายแรงงานฯ จะประสานกับสถานทูตและทางการอิสราเอลเพื่อให้ทายาทได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวโดยเร็วต่อไป

 

สถานเอกอัครราชทูตได้แจ้งข่าวเศร้าให้ญาติของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บได้รับทราบเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังเตรียมส่งร่างผู้เสียชีวิตกลับประเทศไทยหลังผ่านการชันสูตรตามขั้นตอนทางกฎหมายของทางการอิสราเอล

เหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อความมั่นคงของภูมิภาคโดยรวม โดยประเทศไทยแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ความขัดแย้งที่กำลังทวีความรุนแรงในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในฉนวนกาซาและเลบานอน

 

ด้านนายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศได้ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์การสูญเสียและเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการใช้กำลังโจมตีซึ่งกันและกันทันที เพื่อป้องกันการขยายวงของวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่กำลังย่ำแย่ลงอย่างต่อเนื่อง พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเจรจาทางการทูตอย่างสันติ เพื่อฟื้นฟูเสถียรภาพและสันติภาพให้กับภูมิภาค

ประเทศไทยยังแสดงความห่วงใยต่อคนไทยที่ยังคงทำงานอยู่ในอิสราเอล โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัยของแรงงานไทยอย่างใกล้ชิด

เครดิตภาพ Reuters

ในฐานะประเทศสมาชิกของสหประชาชาติที่สนับสนุนภารกิจรักษาสันติภาพ ไทยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องปฏิบัติตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านมนุษยธรรมในพื้นที่

ประเทศไทยขอให้ทุกฝ่ายใช้ความอดกลั้นสูงสุด และหันมามุ่งเจรจาเพื่อหาทางออกอย่างสันติ และเน้นย้ำการหาทางออกแบบสองรัฐระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ เพื่อให้ภูมิภาคนี้กลับสู่เสถียรภาพและสันติภาพในที่สุด