ประกาศกรมอุตุฯเตือน 14 จว.พรุ่งนี้ 26 ต.ค.67 รับมือฝนตกหนักถึงหนักมาก

25 ต.ค. 2567 | 18:20 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ต.ค. 2567 | 21:09 น.
858

กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับที่ 5 "พายุจ่ามี" พรุ่งนี้ 14 จังหวัดรับมือฝนตกหนักถึงหนักมาก ด้านศปช.เตือนประชาชนท้ายเขื่อนเจ้าพระยาระวังน้ำท่วมหลังปล่อยน้ำเพิ่ม

วันที่ 25 ตุลาคม 2567 กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 5 เรื่อง พายุ “จ่ามี” โดยพายุดังกล่าวไม่ได้เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย แต่จะมีผลกระทบทำให้หลายจังหวัดมีฝนเพิ่ม กับฝนตกหนัก ซึ่งจังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากมีดังนี้

วันที่ 26 ตุลาคม 2567 

  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ:จังหวัดเลย ชัยภูมิ และนครราชสีมา
  • ภาคกลาง: จังหวัดลพบุรี และสระบุรี
  • ภาคตะวันออก:  จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และชลบุรี
  • ภาคใต้:จังหวัดพังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล  

วันที่ 27 ตุลาคม 2567 

  • ภาคเหนือ:จังหวัดอุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ:จังหวัดนครพนม มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา ศรีษะเกษ และอุบลราชธานี
  • ภาคกลาง:จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
  • ภาคตะวันออก:จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
  • ภาคใต้: จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล  

วันที่ 28–29 ตุลาคม 2567  

  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ:จังหวัดมุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
  • ภาคกลาง:จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
  • ภาคตะวันออก: จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด
  • ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล 
     

ทั้งนี้เมื่อเวลา 16.00 น. ของวันนี้ (25 ต.ค. 2567) พายุโซนร้อนกำลังแรง “จ่ามี” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 640 กิโลเมตร ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะไหหลำประเทศจีน มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 17.6 องศาเหนือ ลองจิจูด 116.5 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 92 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 

 

พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ค่อนทางเหนือเล็กน้อย ด้วยความเร็วประมาณ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางในช่วงวันที่ 26–28 ต.ค. 67 โดยพายุนี้จะไม่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย แต่จะทำให้มีลมฝ่ายตะวันตก ลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดเข้าหาศูนย์กลางของพายุมีกำลังแรงขึ้น  ประกอบกับมีแนวพัดสอบของลมตะวันตกเฉียงเหนือจากทะเลอันดามันและลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน 

พายุโซนร้อนกำลังแรง “จ่ามี”

ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก กับมีลมแรงในช่วงวันดังกล่าว หลังจากนั้นพายุจะเปลี่ยนทิศทางเคลื่อนตัวออกห่างจากชายฝั่งประเทศเวียดนามกลับไปทางทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง 

ลมตะวันตกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ในช่วงวันที่ 26–29 ต.ค. 67 ทำให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่ง 

ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง

ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย

 


สำหรับคลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

 

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง  กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับต่อไปใน วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2567 เวลา 23.00 น.

ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

 

ด้านศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. ได้ออกมาเตือนประชาชนที่อยู่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา หลังกรมชลประทานปรับเพิ่มการระบายน้ำ โดยนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. เปิดเผยว่า วันนี้ (25 ต.ค.) กรมชลประทานได้เพิ่มการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ที่สถานีจังหวัดชัยนาท อยู่ที่อัตรา 1,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเพิ่มขึ้น

 

โดยพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และแม่น้ำน้อย ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะมีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 30 - 50 เซนติเมตร 

 

 "เนื่องจากฝนตกหนักในพื้นที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา โดยคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านสถานี C.2 จ.นครสวรรค์ ช่วง 1-7 วันข้างหน้าจะอยู่ที่ 1,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจะส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเพิ่มขึ้น และหากมีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ศปช. จะรีบแจ้งให้ทราบทันที“

 

เขื่อนเจ้าพระยาปรับการระบายน้ำ