"อดีตประธาน ขสมก." ชี้ถัง NGV ไม่ควรติดตั้งใต้รถ ติงคมนาคมอนุมัติได้อย่างไร

04 ต.ค. 2567 | 09:37 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ต.ค. 2567 | 09:37 น.

"อดีตประธาน ขสมก." ชี้ถัง NGV ไม่ควรติดตั้งใต้รถ ติงคมนาคมอนุมัติได้อย่างไร ระบุผู้มีอำนาจพยายามแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และไม่ถูกจุด แนะไม่ควรแก้แก้ไขที่ประตูฉุกเฉิน และค้อนทุบกระจก ต้องดูที่ตำแหน่งติดตั้งถังแก๊ส

จากกรณีที่ "รถบัสไฟไหม้" จากการมาทัศนศึกษาของเด็กนักเรียนโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี โดยพานักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษารวม 3 คัน 

ก่อนที่จะประสบเหตุเกิดเพลิงไหม้บนถนนวิภาวดีรังสิตขาเข้า หน้าอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี จนมีเด็กและครูเสียชีวิตรวม 23 ราย 

พลเอกหม่อมหลวง กิติมาศ สุขสวัสดิ์ อดีตเจ้ากรมการขนส่งทหารบก และอดีตประธานกรรมการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้ออกมาโพสต์ข้อความเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว โดยได้ระบุข้อความว่า
 

รู้สึกเศร้าใจ เสียใจ จนไม่อยากจะพูดโหนกระแสหรือตามกระแสเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ ซึ่งทำให้พวกเราชาวไทยต้องหลั่งน้ำตากันแทบทุกคน แต่จำเป็นต้องออกมาพูดเพราะท่านผู้รู้ (ไม่จริง) และท่านผู้มีอำนาจ พยายามแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และไม่ถูกจุด

การแก้ปัญหารถโดยสารที่ใช้ NGV เป็นเชื้อเพลิงนั้น อย่าไปแก้ที่การตรวจสภาพรถถี่ๆ อย่าไปแก้ไขที่ประตูฉุกเฉิน อย่าไปแก้ไขที่ค้อนทุบกระจก แต่ควรแก้ไขที่ตำแหน่งที่ติดตั้งถัง GAS NGV จะเป็นการแก้ที่ตรงจุด และเป็นการแก้ที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง

ธรรมชาติของ GAS NGV เป็น GAS ที่เบากว่าอากาศ ถ้ารั่วจะลอยขึ้นไม่ใช่ลอยลง การติดตั้งถัง GAS บนรถจึงต้องติดบนหลังคา GAS ที่รั่วก็จะลอยขึ้นและสลายตัวไปในอากาศ ไม่เข้ามาในรถ
 

แต่ถ้าติดตั้งใต้ห้องโดยสาร GAS ที่รั่วก็จะเข้ามาในห้องโดยสาร เมื่อเกิดประกายไฟ และลุกไหม้ขึ้นจะเร็วมากหนีไม่ทันแน่

ขสมก.ที่เคยบริหารมีรถที่ใช้ NGV เป็นเชื้อเพลิงเป็นจำนวนมาก รถทุกคันติดตั้งถัง GAS NGV บนหลังคา เราเคยมี GAS รั่ว แต่ไม่เคยมีไฟไหม้ ไม่เข้าใจ กรมการขนส่งทางบก 

และกระทรวงคมนาคมจริงๆ ว่าอนุมัติให้ติดถัง GAS NGV ที่ใต้ห้องโดยสารได้อย่างไร ช่วยกันแก้ที่ต้นเหตุเถอะ อย่าเกรงใจผู้ประกอบการเลย