วันที่ 27 กันยายน 2567 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ ได้ออกประกาศแจ้งเตือนประชาชนเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
เนื่องด้วยจากการติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำป่าสัก มีแนวโน้มเริ่มทรงตัว เฉลี่ยวันละ 35-40 ล้านลบ.ม. ส่งผลให้ระดับน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เพิ่มสูงขึ้น เพื่อเป็นการควบคุมระดับน้ำและปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ จะดำเนินการปรับเพิ่มการระบายน้ำ โดยทยอยปรับเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ดังนี้
- เพิ่มการระบายจากอัตรา 260 ลบ.ม./วินาที เป็น อัตรา 280 ลบ.ม./วินาที ในวันที่ 30 กันยายน 2567 เวลา 06.00 น.
- เพิ่มการระบายจากอัตรา 280 ลบ.ม./วินาที เป็น อัตรา 320 ลบ.ม./วินาที ในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 เวลา 06.00 น.
- เพิ่มการระบายจากอัตรา 320 ลบ.ม./วินาที เป็น อัตรา 350 ลบ.ม./วินาที ในวันที่ 2 ตุลาคม 2567 เวลา 06.00 น.
ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดต่อทรัพย์สินของประชาชน จากการที่ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมอีกประมาณ 1.00 – 1.20 เมตร โดยระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ยังอยู่ในลำน้ำ ไม่เกิดสภาวะน้ำล้นตลิ่งแม่น้ำป่าสัก จึงใคร่ขอให้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนใน พื้นที่ทราบ และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดต่อไป
อนึ่งก่อนหน้านั้น(วันที่ 26 ก.ย.67) กรมชลประทาน ได้แจ้งเตือนว่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีการปรับเพิ่มการระบายน้ำ หลังจากมีปริมาณน้ำสะสมจากฝนที่ตกในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก ไหลลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์อย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยข้อมูล ณ วันที่ 26 ก.ย.67 เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 545 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 57% (ระดับเก็บกักน้ำสูงสุด 960 ล้าน ลบ.ม.)ยังสามารถรับน้ำได้อีก 415 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำสอดคล้องกับสถานการณ์และควบคุมระดับน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม กรมชลประทาน จึงทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันได โดยมีรายละเอียดดังนี้
- วันที่ 26 ก.ย. 2567 เวลา 16.00 น. จากอัตรา 200 ลบ.ม./วินาที เป็น อัตรา 220 ลบ.ม./วินาที
- วันที่ 27 ก.ย. 2567 เวลา 06.00 น. จากอัตรา 220 ลบ.ม./วินาที เป็น อัตรา 240 ลบ.ม./วินาที
- วันที่ 28 ก.ย. 2567 เวลา 06.00 น. จากอัตรา 240 ลบ.ม./วินาที เป็น อัตรา 260 ลบ.ม./วินาที
สำหรับการระบายน้ำดังกล่าว จะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมอีกประมาณ 0.60 – 0.80 เมตร โดยระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ยังอยู่ในลำน้ำ ไม่เกิดสภาวะน้ำล้นตลิ่งแม่น้ำป่าสัก
ส่วนทางด้านสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ องค์การมหาชน ได้รายงานสถานการณ์น้ำประจำวันที่ 27 กันยายน 2567 โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังดังนี้
- เฝ้าระวัง ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่เพิ่มสูงขึ้นจากฝนที่ตกหนัก และทำให้เกิด น้ำท่วมขังเนื่องจากน้ำในลำน้ำสาขาไหลลงสู่แม่น้ำโขงได้ช้า โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดนครพนม มุกดาหาร และอุบลราชธานี
- เฝ้าระวัง ระดับน้ำแม่น้ำยม บริเวณจังหวัดสุโขทัย และพิษณุโลก โดยเฉพาะอำเภอศรีสัชนาลัย อำเภอสวรรคโลก อำเภอเมืองสุโขทัย อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นและล้นตลิ่งแล้วในบางพื้นที่จากปริมาณฝนที่ตกสะสมในช่วงที่ผ่านมา
- เฝ้าติดตาม ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะสูงขึ้นจากฝนตกสะสมในพื้นที่ลุ่มน้ำสาขาบริเวณภาคเหนือในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับฝนที่ตกในพื้นที่ภาคกลาง ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น อาจทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาและลำน้ำสาขาได้รับผลกระทบ
- ปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมง ประเทศไทยมีฝนตกเล็กน้อย ถึงปานกลางกระจายตัวทุกภูมิภาคและมีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดสุพรรณบุรี นครศรีธรรมราช เลย เชียงใหม่ สตูล ปราจีนบุรี
- ระดับแม่น้ำสายหลัก มีน้ำล้นตลิ่งบริเวณ น้ำแม่ลาว จังหวัดเชียงราย ,แม่น้ำปิง น้ำแม่ขาน น้ำแม่กวง น้ำแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่,แม่น้ำอิง ห้วยเคียน น้ำแม่ต๋ำ จังหวัดพะเยา,แม่น้ำวัง น้ำแม่ต๋ำ จังหวัดลำปาง,แม่น้ำวัง จังหวัดตาก, แม่น้ำน่าน จังหวัดอุตรดิตถ์,แม่น้ำยม จังหวัดแพร่,แม่น้ำยม จังหวัดสุโขทัย,น้ำแควน้อย แม่น้ำยม คลองวังน้ำใส คลองตะเข้ จังหวัดพิษณุโลก,แม่น้ำป่าสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ,แม่น้ำเลย จังหวัดเลย,ลำพะเนียง จังหวัดหนองบัวลำภู, ห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี,แม่น้ำสงคราม ลำน้ำอูน ลำน้ำยาม จังหวัดสกลนคร,ลำน้ำก่ำ จังหวัดนครพนม, ห้วยบังอี่ จังหวัดมุกดาหาร,ลำเซบาย จังหวัดยโสธร,ห้วยปากแซง จังหวัดอุบลราชธานี,ลำเชิญ จังหวัดขอนแก่น, ลำเชิญ จังหวัดชัยภูมิ,แม่น้ำชี จังหวัดมหาสารคาม,แม่น้ำชี จังหวัดร้อยเอ็ด,ลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ ,แม่น้ำน้อย คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา,แม่น้ำท่าจีน จังหวัดนครปฐม,แม่น้ำบางปะกง จังหวัดปราจีนบุรี, คลองน้ำพระ จังหวัดสตูล
- อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือ 52,411 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 74% ของความจุ โดยเขื่อนที่มีปริมาณน้ำมาก ได้แก่ เขื่อนกิ่วคอหมา, เขื่อนห้วยหลวง, เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล, เขื่อนน้ำอูน, เขื่อนขุนด่านปราการชล, เขื่อนวชิราลงกรณ, เขื่อนสิริกิติ์, เขื่อนประแสร์, เขื่อนกิ่วลม, เขื่อนลำปาว, เขื่อนนฤบดินทรจินดา
ทั้งนี้ได้คาดการณ์ฝน ช่วงวันที่ 27-29 ก.ย. 67 ประเทศไทยมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ทำให้ประเทศไทยตอนบนกลับมามีฝนเพิ่มขึ้น และอาจมีฝนตกหนักได้ในบางแห่งบริเวณภาคเหนือ และภาคตัวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ในขณะที่ภาคใต้ ยังคงมีฝนตกหนักต่อเนื่อง คาดการณ์คลื่น ช่วงวันที่ 27–29 ก.ย. 67 ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ส่งผลให้คลื่นลมทะเลฝั่งอันดามัน และอ่าวไทยสูงประมาณ 1.0-1.5 เมตร