ศุลกากรจับลักลอบส่งออกยาเสพติด “ทางเรือ-ทางอากาศ” กว่า 98 ล้านบาท

10 ส.ค. 2567 | 12:17 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ส.ค. 2567 | 12:17 น.

ศุลกากรรวบลักลอบส่งออกยาเสพติด “ทางเรือ-อากาศ” มูลค่ากว่า 98 ล้านบาท ชี้ปีงบ 67 เดินหน้าจับคดียาเสพติดแล้วกว่า 123 คดี มูลค่า 970 ล้านบาท

นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามนโยบาย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญในการปราบปรามยาเสพติดให้หมดไปจากประเทศ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการอย่างเข้มงวด จึงเร่งเดินหน้าปราบปรามยาเสพติดทั้งการนำเข้า การส่งออก การนำผ่าน และการลักลอบจำหน่าย โดยสั่งการให้กรมศุลกากรบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปราบปรามยาเสพติดให้หมดไป

ทั้งนี้ กรมศุลกากร ได้ขานรับนโยบาย โดยกำชับให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าและส่งออกยาเสพติดในทุกช่องทาง โดยในวันนี้ กรมศุลกากรมีผลงานการสกัดกั้นการลักลอบส่งยาเสพติดออกนอกราชอาณาจักรทั้งทางทางเรือและทางอากาศ ดังนี้

การสกัดกั้นการลักลอบส่งออกยาเสพติดทางเรือ

กรมศุลกากรได้เพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาและส่งออกไปนอกราชอาณาจักรในทุกช่องทาง โดยบูรณาการด้านการข่าวกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานภายใต้โครงการความร่วมมือด้านปราบปรามและสกัดกั้นยาเสพติดในพื้นที่ท่าเรือ (Seaport Interdiction Task Force : SITF) Australian Federal Police (AFP) Australian Border Force (ABF) และ Ministry of Justice Investigation Bureau (MJIB) อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

ศุลกากรจับลักลอบส่งออกยาเสพติด “ทางเรือ-ทางอากาศ” กว่า 98 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม ได้ทำการวิเคราะห์ใบขนสินค้าขาออกที่มีความเสี่ยงลักลอบส่งออกยาเสพติดทางท่าเรือกรุงเทพ พบใบขนสินค้าต้องสงสัยระบุปลายทางประเทศไต้หวัน สำแดงชนิดสินค้าเป็นเครื่องบดเนื้อและเครื่องทำลูกชิ้นรวม 3 เครื่อง จึงประสานเจ้าหน้าที่ศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ และ SITF เพื่อตรวจสอบ พบเฮโรอีนซุกซ่อนในมอเตอร์เครื่องบดเนื้อ 2 เครื่อง เครื่องละ 16 ก้อน

รวมเป็นจำนวน 32 ก้อน น้ำหนักรวมสิ่งห้อหุ้ม 11.8 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 35.52 ล้านบาท จึงนำของกลางทั้งหมดส่ง บช.ปส และรวบรวมข้อมูลเพื่อขยายผลร่วมกับ SITF เบื้องต้นพบว่าผู้กระทำความผิดเป็นกลุ่มลักลอบลำเลียงยาเสพติดรายสำคัญทางจังหวัดเพชรบูรณ์ที่อยู่ระหว่างการติดตามของ ป.ป.ส. และ บช.ปส.

ต่อมาเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2567 ได้ทำการวิเคราะห์ใบขนสินค้าขาออกที่มีความเสี่ยงลักลอบส่งออกยาเสพติดทางท่าเรือกรุงเทพ ปลายทางประเทศ Australia จึงทำการตรวจสอบด้วยเครื่องเอกซเรย์และสุนัขดมกลิ่นของกรมศุลกากร (K-9) พบเฮโรอีนซุกซ่อนอยู่ในชายเสื้อชาวเขา จำนวน 600 ชิ้น น้ำหนัก 20.25 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 60.75 ล้านบาท

ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าว เป็นความผิดฐานพยายามส่งยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด และตามมาตรา 244 และ 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560

การสกัดกั้นการลักลอบส่งออกยาเสพติดทางอากาศ

สำหรับการขนส่งสินค้าทางอากาศ กรมศุลกากรได้เฝ้าระวังการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาและส่งออกไปนอกราชอาณาจักร โดยบูรณาการด้านการข่าวอย่างต่อเนื่องกับหน่วยสกัดกั้นยาเสพติดผ่านท่าอากาศยาน (Airport Interdiction Task Force: AITF) มาโดยตลอด

ศุลกากรจับลักลอบส่งออกยาเสพติด “ทางเรือ-ทางอากาศ” กว่า 98 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม และหน่วยสกัดกั้น ยาเสพติดผ่านท่าอากาศยาน (Airport Interdiction Task Force: AITF) ประกอบด้วย ป.ป.ส. และ บช.ปส. ได้ร่วมกันตรวจสอบพัสดุไปรษณีย์ขาออกระหว่างประเทศ ณ ศูนย์ไปรษณีย์สุวรรณภูมิ จำนวน 1 หีบห่อ ปลายทางประเทศ Australia

สำแดงชนิดสินค้าเป็น “Kitchenware” ผลการตรวจสอบ พบยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เฮโรอีน (Heroin) ลักษณะเป็นผงสีขาวขุ่น ห่อหุ้มด้วยเทป บรรจุในซองพลาสติกปิดทับด้วยเทปสีเหลือง ซุกซ่อนในผนังด้านข้างของกล่องพัสดุไปรษณีย์ น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 320 กรัม มูลค่าประมาณ 960,000 บาท

และในวันเดียวกัน ได้ตรวจพบยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ไอซ์ (Methamphetamine) ปลายทางประเทศ Australia อีก 1 หีบห่อ โดยมีลักษณะเป็นเกล็ดสีขาวขุ่น ห่อหุ้มด้วยกระดาษฟอยล์ พลาสติกใสพิมพ์ลาย และกระดาษคาร์บอนซุกซ่อนอยู่ภายในปิ่นโต น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 440 กรัม มูลค่าประมาณ 1.056 ล้านบาท

ทั้งนี้ กรมศุลกากรจึงได้ตรวจยึดของกลางดังกล่าวส่งพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และหน่วย AITF จะดำเนินการประสานกับศุลกากรประเทศออสเตรเลีย เพื่อดำเนินการสืบสวนและขยายผลไปยังประเทศปลายทางต่อไป

สำหรับการกระทำดังกล่าว เป็นความผิดฐานพยายามส่งยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด และตามมาตรา 242 และ มาตรา 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560

ขณะเดียวกัน ในปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 9 สิงหาคม 2567) กรมศุลกากรมีสถิติการจับกุมยาเสพติด ทั้งสิ้น 123 คดี มูลค่ารวม 970.70 ล้านบาท