ครั้งแรกในไทย เข้าชมฟรี "หินดวงจันทร์" จากยานฉางเอ๋อ 5 จัดแสดง 22-28 ก.ค.นี้

11 ก.ค. 2567 | 03:00 น.
1.7 k

เตรียมพบกับประสบการณ์สุดพิเศษ "หินดวงจันทร์" จากยานฉางเอ๋อ 5 ครั้งแรกในไทยและนอกประเทศจีน วันที่ 22-28 ก.ค. 67 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ เข้าชมฟรี! อย่าพลาดโอกาสครั้งประวัติศาสตร์นี้

ข่าวดี คนไทยเตรียมพบกับ "หินดวงจันทร์" จากยานฉางเอ๋อ 5 เข้าชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ในวันที่ 22-28 กรกฎาคม ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ ตั้งแต่เวลา 09.00-20.00 น.นี้

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NARIT) แจ้งข่าวดีนี้ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ  ระบุว่า สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ร่วมกับองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (China National Space Administration: CNSA)

ด้วยการสนับสนุนของ TCP Group ปลุกพลังให้คนไทยสนใจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมนำ "หินดวงจันทร์จากยานฉางเอ๋อ 5" มาจัดแสดงในประเทศไทย และนับเป็นครั้งแรกที่จีนนำมาจัดแสดงนอกประเทศ ร่วมกับอุปกรณ์ปฏิบัติภารกิจวิทยาศาสตร์ของไทยที่จะติดตั้งไปกับยานฉางเอ๋อ 7

พร้อมนำเสนอผลงานการใช้โจทย์ดาราศาสตร์ ผลักดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูงด้านต่าง ๆ 

ยานฉางเอ๋อ 5 เป็นยานอวกาศลำแรกของจีนที่มีเป้าหมายเพื่อเก็บตัวอย่างดินและหินดวงจันทร์ ได้ขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 และกลับสู่โลกในวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2563

เก็บตัวอย่างดินและหินจากดวงจันทร์กลับมาประมาณ 2 กิโลกรัม เพื่อใช้ในการศึกษาวิจัยภายใต้โครงการจัดตั้งสถานีวิจัยนานาชาติบนดวงจันทร์ของจีน (International Lunar Research Station: ILRS)

ภายใต้โครงการดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์ และวิศวกรไทยนำโดย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยมหิดล ได้เสนอโจทย์วิจัยด้านการสำรวจทรัพยากรบนดวงจันทร์ โดยจะนำอุปกรณ์ของไทย ชื่อ Moon-Aiming Thai-Chinese Hodoscope: MATCH เพื่อตรวจวัดอนุภาคพลังงานสูง (อิเล็กตรอน และโปรตรอน) ภายใต้รังสีคอสมิกในอวกาศ

ครั้งแรกในไทย เข้าชมฟรี \"หินดวงจันทร์\" จากยานฉางเอ๋อ 5 จัดแสดง 22-28 ก.ค.นี้

รวมทั้งศึกษาผลกระทบระหว่างดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์อันเนื่องมาจากอนุภาคที่ตรวจวัด ข้อเสนอของไทยนี้นับเป็น 1 ใน 7 อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ ที่ผ่านการคัดเลือกให้ติดตั้งไปกับยานอวกาศฉางเอ๋อ 7 

นอกจากนี้ ยังจัดแสดงผลงานการใช้โจทย์ดาราศาสตร์ ผลักดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูงด้านต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีทัศนศาสตร์และโฟโตนิกส์ เทคโนโลยีเมคาทรอนิกส์ เทคโนโลยีคลื่นวิทยุและสัญญานดิจิทัล เทคโนโลยีอวกาศ วิทยาศาสตร์บรรยากาศ และเทคโนโลยีการขึ้นรูปชิ้นงานความละเอียดสูง เป็นต้น

พบกับความตื่นตาตื่นใจต่าง ๆ เหล่านี้ได้ที่บูธนิทรรศการ NARIT อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND บริเวณโซน F ระหว่างวันที่ 22-28 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ กรุงเทพฯ สามารถเข้าชมงานได้ ตั้งแต่เวลา 09:00-20:00 น. ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

ข้อมูล/ภาพ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ