“ธนวัช ภูเก้าล้วน”ย้ำกระบี่ต้องมีอ่างเก็บน้ำ เสนอ“กรมชลฯ”เร่งหาพื้นที่

21 มิ.ย. 2567 | 15:58 น.
อัปเดตล่าสุด :21 มิ.ย. 2567 | 16:03 น.

“ธนวัช ภูเก้าล้วน”ย้ำกระบี่ต้องมีอ่างเก็บน้ำ เสนอ “กรมชลฯ” หาพื้นที่อื่นแทน หาก“อ่างเก็บน้ำคลองกระบี่ใหญ่”เป็นปัญหากับประชาชนที่ทำกินบนพื้นที่ศึกษาอ่าง

วันที่ 20 มิ.ย. 2567 กรมชลประทาน จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น โครงการการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและความเป็นไปได้ ในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองกระบี่ใหญ่ หมู่ที่ 4 บ.ห้วยโต้ ต.ทับปริก อ.เมือง จ.กระบี่ โดยมี นายธนวัช ภูเก้าล้วน ตัวแทนภาคประชาชน และประชาชนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในครั้งนี้ด้วย 

นายธนวัช กล่าวว่า วันนี้เป็นการพูดคุยกันด้วยเหตุและผล ตนเข้าใจดีว่าพี่น้อง ม.4 ต.ห้วยโต้ มีความรู้สึกอย่างไร ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่ทาง นายสาคร เกี่ยวข้อง อดีต ส.ส.กระบี่ ได้เคยแสดงความเห็นว่า ต้องการให้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้น

 “ขอย้ำก่อนว่า การปักหมุดกำหนดพื้นที่เป็นไปตามหลักวิศวกรรม ไม่ใช่ผมหรือ นายสาคร ไปชี้จุดแต่อย่างใด โดยเมื่อย้อนไปโครงการนี้ เรียกว่า โครงการบริหารจัดการลุ่มแม่น้ำกระบี่ใหญ่ มีอ่างเก็บน้ำที่สามารถดำเนินการได้ทั้งหมด 4 แห่ง

ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองกระบี่ใหญ่, อ่างเก็บน้ำห้วยโต้, อ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่  และ อ่างเก็บน้ำคลองหญ้าไทร และจะมีการขุดลอกคลองกระบี่ใหญ่ ระยะทางกว่า 40 กิโลเมตร พร้อมทำคลองบายพาสน้ำเลี่ยงเมืองไปทาง ต.ไสไทย และ เชื่อมกับแก้มลิงหนองทะเล ต.หนองทะเล อ.เมือง จ.กระบี่ ที่ผม และ อดีต ส.ส.สาคร ร่วมกันผลักดัน”

 

นายธนวัช กล่าวต่อว่า ปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่า จ.กระบี่ มีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ทั้งอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร น้ำเพื่อการท่องเที่ยว และ ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ทางการเกษตร ของพี่น้องชาว ต.ทับปริก รวมไปถึงในเขตเทศบาลเมืองกระบี่ บางส่วนด้วย 

ทั้งนี้ หากย้อนไป เมื่อช่วงปี 2554-2555 บริเวณเส้นทาง ม.8 ต.ทับปริก ถูกน้ำท่วมทั้งหมด วันนี้จึงต้องพูดคุยหารือกันเพื่อหาทางออกให้ จ.กระบี่ ที่เป็นเมืองท่องเที่ยว มีการบริหารจัดการน้ำที่ดีขึ้น แต่หากการดำเนินการโครงการอ่างเก็บน้ำคลองกระบี่ใหญ่ แล้วกลายเป็นปัญหาต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่                      

จึงอยากเสนอว่าจะสามารถไปดำเนินการจุดอื่นแทนได้หรือไม่ ที่จะสามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 12 ล้านคิว เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ เพราะหากมีน้ำไม่เพียงพอ ก็อาจจะเกิดผลกระทบที่ตามมาอีก ทั้งพื้นที่ทางการเกษตรกว่า 18,000 ไร่ 

และหากการประปาไม่ได้รับงบประมาณ โครงการแก้ไขปัญหาน้ำดิบไม่เพียงพอในช่วงหน้าแล้ง ดังเช่นปัญหาที่เพิ่งผ่านมาช่วงเดือน มีนาฯ-เมษาฯ 2567 การบริหารจัดการน้ำในอนาคต ของ จ.กระบี่ ก็ยังคงจำเป็นที่จะมีโครงการอ่างเก็บน้ำ ที่มีประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำที่เพียงพอ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้ง น้ำเพื่อการเกษตร-การท่องเที่ยวและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองกระบี่

                         ธนวัช ภูเก้าล้วน