ธนาคารหน่วยกิต 2567 คืออะไร จากกรณีที่ สพฐ. หรือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ออกประกาศ เรื่อง แนวทางการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิตระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2567 โดยประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567
ล่าสุด พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ประกาศฉบับนี้จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบธนาคารหน่วยกิตระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการอาชีวศึกษาของประเทศไทย สู่การปฏิบัติและผลักดันไปสู่การดำเนินงานที่เป็นระบบอย่างชัดเจน เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียน และประชาชนได้นำผลการเรียน ผลลัพธ์การเรียนรู้ ทักษะจากการทำงานหรือทักษะเฉพาะ มาเทียบโอนสะสม และใช้ประโยชน์ในการเพิ่มคุณวุฒิการทำงานและการศึกษาต่อ ก่อให้เกิดการพัฒนาตนเองตามความถนัดและความสนใจของ เปิดโอกาสให้เรียนรู้และฝึกอบรมใหม่ได้ตลอดเวลาโดยไม่จำกัดอายุ รวมทั้งสร้างโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้เพิ่มและพัฒนาทักษะใหม่ นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ และการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ธนาคารหนวยกิต 2567 คือ
ธนาคารหน่วยกิต คือ ระบบที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสะสมหน่วยกิตจากผลการเรียน การฝึกอบรม ประสบการณ์ หรือทักษะ นำไปใช้ต่อยอดในการศึกษาต่อ การเพิ่มคุณวุฒิ หรือการพัฒนาทักษะความสามารถของตน โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ ดังนี้
1) ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ทุกคนเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่จำกัดวัย และคุณวุฒิ การเชื่อมโยงการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยเข้าด้วยกัน
2) สนับสนุนการสะสมหน่วยกิต ทำให้ผู้เรียนสามารถสะสมหน่วยกิตจากแหล่งต่าง ๆ เช่น การศึกษา การฝึกอบรม ประสบการณ์ หรือทักษะ ไม่มีข้อกำหนดเรื่องระยะเวลาในการสะสม และระยะเวลาในการศึกษา รวมทั้งสามารถเทียบโอนหน่วยกิตระหว่างสถานศึกษาได้
3) พัฒนาระบบการศึกษา โดยส่งเสริมให้สถานศึกษาพัฒนาระบบการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น ตอบสนองความต้องการของผู้เรียน ช่วยให้นักเรียน นักศึกษา พัฒนาทักษะ เพิ่มคุณวุฒิ เพื่อสำเร็จการศึกษาหรือการทำงาน ลดเวลาการศึกษาในระบบสำหรับผู้เรียนที่มีความชำนาญอยู่แล้วให้ไปเรียนวิชาที่มีความสนใจเพิ่มเติม หรือใช้ร่นระยะเวลาในการเรียน และเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ
ประกาศ ธนาคารหน่วยกิต ทั้ง 4 ฉบับ จะออกภายในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 ดังนี้
1. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดทำหลักเกณฑ์และแนวทางการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิตระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน รูปแบบการศึกษาในระบบ
2. กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) จัดทำหลักเกณฑ์และแนวทางการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิตระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน รูปแบบการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
3. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดทำเกณฑ์และแนวทางการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิต การอาชีวศึกษา รูปแบบการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาระบบทวิภาคี
4. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ส่งเสริม การทำความร่วมมือกับหน่วยงาน จัดทำหลักสูตรโรงเรียนนอกระบบ หลักสูตรระยะสั้น เพื่อการสะสมและใช้ในระบบธนาคารหน่วยกิต รวมทั้งจัดทำหลักเกณฑ์และแนวทางการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิตโรงเรียนเอกชนนอกระบบ
ขณะเดียวกัน ศธ. ยังมุ่งเน้นถึงความต้องการของผู้เรียนที่มีความสามารถเป็นเลิศ ที่ต้องการลดเวลาเรียนในระบบ ประหยัดเวลา และประหยัดค่าใช้จ่าย ด้วยวิธีการสอบเทียบวัดระดับความรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งรับผิดชอบโดย สกร. เปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความรู้ ทักษะ และมีความเป็นเลิศทางปัญญาให้สามารถเข้ารับการทดสอบและประเมินวัดระดับเพื่อให้ได้รับวุฒิการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 สำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เป็นผู้จัดทำ โดยโครงการนี้จะเริ่มดำเนินการในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2567.