กฎหมายต้องรู้ ก่อนดื่มแอลกอฮอล์ช่วงเดินทางหยุดยาวสงกรานต์ 2567

10 เม.ย. 2567 | 00:31 น.
อัปเดตล่าสุด :10 เม.ย. 2567 | 00:57 น.
7.6 k

วันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ 2567 ใกล้เข้ามา หลายคนเตรียมตัวเดินทางท่องเที่ยวออกต่างจังหวัด และแน่นอนว่า การกินดื่มเพื่อเฉลิมฉลองวันหยุดนั้น อาจจะมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เรามาดูกันว่า กินดื่มอย่างไรระหว่างการเดินทางที่มีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง

ช่วง วันหยุดยาวสงกรานต์ 2567 ในบรรยากาศแห่งการท่องเที่ยวและเดินทาง การตั้งวงสังสรรค์ตามสถานที่ต่างๆ มีข้อพึงระวัง ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 นั้น มีหลายมาตราที่เกี่ยวข้อง หากพลั้งเผลออาจเข้าข่ายละเมิดฝ่าฝืน มีโทษถึงจำคุก โดยเฉพาะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตาม “สถานีบริการน้ำมัน” หรือตาม “สวนสาธารณะ” แม้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาจากที่อื่น ก็นำมาดื่มในบริเวณดังกล่าวนี้ไม่ได้ ถือว่ามีความผิด

สถานที่ห้ามนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปดื่ม

เรามาดูรายละเอียดกันว่า สถานที่ใดบ้างที่ “ห้ามนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปดื่ม”

มาตรา 31 ห้ามมิให้ผู้ใดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณ ดังต่อไปนี้

  1. วัดหรือสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เว้นแต่เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม ทางศาสนา (ศาสนาคริสต์มีการดื่มสุราในพิธีกรรม)
  2. สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ สถานพยาบาลและร้านขายยา ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นที่พักส่วนบุคคล
  3. สถานที่ราชการ ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นที่พักส่วนบุคคล หรือสโมสรหรือการจัด เลี้ยงตาม ประเพณี
  4. สถานศึกษา ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นที่พักส่วนบุคคลหรือสโมสร หรือการจัด เลี้ยงตามประเพณี หรือสถานการศึกษาที่สอนการผสมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  5. สถานีบริการเชื้อเพลิง (ปั๊มน้ำมัน) หรือร้านค้าในบริเวณสถานีบริการเชื้อเพลิง
  6. สวนสาธารณะของทางราชการ
  7. สถานที่อื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ เช่น
  • ในบริเวณสถานีรถไฟ หรือในขบวนรถที่อยู่บนทางรถไฟ
  • ในพื้นที่ที่อยู่ในกำกับดูแล และใช้ประโยชน์ของราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
  • ในท่าเรือหรือโดยสารสาธารณะ
  • บนทางตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก
  • ในสถานีขนส่งตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก

ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

นักดื่มหลายคนอาจเข้าใจผิดว่า สามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากที่อื่นๆ มาดื่มในบริเวณปั๊มน้ำมันได้เพราะหลายแห่งก็จัดสวนหย่อมมีโต๊ะเก้าอี้สำหรับนั่งพักผ่อนเอาไว้ให้อย่างสวยงามและสะดวกสบาย แต่ถ้าทำเช่นนั้น ก็จะเป็นการผิดกฎหมาย โดยในส่วนของปั๊มน้ำมันเอง หากมีร้านค้าภายในปั๊มจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ประชาชน ก็จะผิดตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ในมาตรา 27 (6) ที่ห้ามขายเหล้าในสถานีบริการน้ำมัน ส่วนประชาชนหากนำเหล้าเบียร์เข้าไปดื่มในบริเวณปั๊มน้ำมัน ก็จะผิดมาตรา 31 (5) ดังกล่าวไว้ข้างต้น

ทั้งสองกรณี มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ปั๊มน้ำมัน หรือสถานีบริการน้ำมัน ที่เป็นที่ตั้งของร้านค้าเอง ก็อาจถูกกระทรวงมหาดไทยเพิกถอนใบอนุญาตสถานประกอบการน้ำมันได้ด้วย

เมาไม่ขับ และคนนั่งก็อย่าไปชวนคนขับให้ดื่มด้วยนะ

ถ้าดื่ม อย่าขับ โดนจับนะจ๊ะ

ส่วนการขับรถขณะมึนเมา หรือการเมาแล้วขับ ถือเป็นพฤติกรรมที่อันตรายและมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของตัวผู้ขับขี่เองและผู้อื่นบนท้องถนน จึงต้องมีกฎหมายเมาแล้วขับออกมาเพื่อเป็นการควบคุมนักดื่มทั้งหลาย โดยโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน มีตั้งแต่การจ่ายค่าปรับ ถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ และจำคุก

กรณีเมาแล้วขับ

มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5,000 - 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งพักใช้ใบอนุญาตขับรถไม่ต่ำกว่า 6 เดือน สำหรับผู้ที่มีการตรวจพบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด ดังนี้

  • ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ กรณีผู้ขับขี่มีอายุน้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หรือ ผู้ขับขี่ที่มีใบอนุญาตขับรถชั่วคราว (ใบอนุญาตแบบ 2 ปี) ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 21 พ.ศ. 2550 ออกความในพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ถือเป็น “ผู้เมาสุรา”
  • ปริมาณเแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ กรณีผู้ขับขี่ทั่วไป

การปฏิเสธเป่า(เครื่องมือตรวจวัดแอลกอฮอล์)

จะถือเป็นการเมาแล้วขับ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 10,000 - 20,000 บาท ระงับใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 6 เดือน และศาลสามารถสั่งพักใบอนุญาตขับรถ หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ และสามารถยึดรถไว้ไม่เกิน 7 วัน

กรณีเมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บ

จำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี ปรับ 20,000-100,000 บาท และถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ

กรณีเมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บสาหัส

จำคุก 2-6 ปี ปรับ 40,000-120,000 บาท ระงับใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 2 ปี

กรณีเมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

จำคุก 3-10 ปี ปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตขับรถทันที

โทษของการเมาแล้วขับ

ข้อมูลอ้างอิง: สำนักงานกิจการยุติธรรม/สำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบก กรมการขนส่งทางบก