อย่าพลาด "สุริยุปราคาเต็มดวง" ครั้งใหญ่ ปี 2567

04 เม.ย. 2567 | 15:35 น.
71.6 k

คนรักดาราศาสตร์ต้องไม่พลาด สมาคมดาราศาสตร์ไทย เผยข่าวดีปี 2567 จะเกิด "สุริยุปราคาเต็มดวง" ในวันที่ 8-9 เม.ย.นี้ จะสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนในบางพื้นที่ของทวีปอเมริกาเหนือโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ถือเป็นปรากฏการณ์สุดพิเศษที่ไม่ควรพลาด

สมาคมดาราศาสตร์ไทย เผย ในปีนี้ 2567 จะมี "สุริยุปราคา" และ "จันทรุปราคา" เกิดขึ้นอย่างละ 2 ครั้งโดยทั้งหมดไม่สามารถสังเกตได้จากประเทศไทย การเกิดปรากฎการณ์สุริยุปราคานั้น จะเกิดขึ้นระหว่างวันที่  8-9 เมษายน 2567 ตามเวลาประเทศไทย

การเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงที่ดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าดวงอาทิตย์จนสามารถบดบังดวงอาทิตย์ได้มิดหมดทั้งดวง สังเกตเห็นได้ภายในแนวเส้นทางแคบ ๆ เริ่มในมหาสมุทรแปซิฟิก แล้วผ่านประเทศเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา แคนาดา และตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก

จุดที่เห็น "สุริยุปราคาเต็มดวง" นานที่สุดอยู่ในทะเล เกิดขึ้นเวลา 01:17 น. ของวันที่ 9 เมษายน ตามเวลาไทย (ยังเป็นวันที่ 8 เมษายน ตามเวลาท้องถิ่น) คราสเต็มดวงนาน 4 นาที 28 วินาที

ดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ 1.3% และเงามืดบนผิวโลกมีความกว้างราว 197 กิโลเมตร หลายรัฐของสหรัฐอเมริกาอยู่ในแนวคราสเต็มดวง ได้แก่

  • เท็กซัส
  • โอคลาโฮมา
  • อาร์คันซอ
  • อิลลินอย
  • อินดีแอนา
  • เคนทักกี
  • โอไฮโอ
  • เพนซิลเวเนีย
  • นิวยอร์ก
  • เวอร์มอนต์
  • นิวแฮมป์เชอร์
  • เมน

แนวคราสเต็มดวงเคลื่อนผ่านทะเลสาบอีรีและทะเลสาบออนแทรีโอซึ่งอยู่ในแนวพรมแดนระหว่างสหรัฐอเมริกากับแคนาดาและผ่านด้านตะวันออกของแคนาดา ได้แก่ พื้นที่บางส่วนของรัฐออนแทรีโอ ควิเบก นิวบรันสวิก ส่วนเล็ก ๆ ของโนวาสโกเชีย พรินซ์เอดเวิร์ดไอแลนด์ รวมถึงรัฐนิวฟันด์แลนด์และแลบราดอร์ เมืองโทรอนโตและออตตาวาอยู่นอกเขตเงามืด จึงเห็นเป็น "สุริยุปราคาบางส่วน" ที่ดวงอาทิตย์เหลือเสี้ยวบาง ๆ แต่มอนทรีออลเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงได้นาน 1 นาที

บริเวณที่เห็น "สุริยุปราคาบางส่วน" ครอบคลุมด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก เกือบทั้งหมดของทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง ตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก รวมทั้งพื้นที่ส่วนน้อยทางตะวันตกเฉียงเหนือของยุโรป

วันที่เกิดสุริยุปราคาเป็นช่วงที่ดาวหาง 12พี/ปงส์-บรุกส์ (12P/Pons-Brooks) ผ่านใกล้ดวงอาทิตย์ ผู้ที่อยู่ในแนวสุริยุปราคาเต็มดวงมีโอกาสจะสังเกตดาวหางดวงนี้ได้ด้วยกล้องสองตา หรือถ่ายภาพ "สุริยุปราคาเต็มดวง" โดยมีดาวหางอยู่ในภาพ (ดาวหางอยู่ห่างดวงอาทิตย์ 25°) คาดว่า อาจมีโชติมาตรประมาณ 4-5

อย่างไรก็ตาม หากอยู่ในแนวคราสเต็มดวง ไม่แนะนำให้มองหาดาวหางเพราะการดูสุริยุปราคาเต็มดวงในเวลาที่จำกัด ย่อมสำคัญกว่าดาวหางที่ไม่ค่อยสว่างนัก ดาวหางดวงนี้เป็นดาวหางรายคาบที่เข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์เฉลี่ยทุกประมาณ 71 ปี การกลับมาในคราวนี้สังเกตได้ไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากขณะสว่างที่สุด ดาวหางอยู่ห่างจากโลก และมีตำแหน่งปรากฏอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์

ข้อมูล สมาคมดาราศาสตร์ไทย