20 มีนาคม วัน อสม.แห่งชาติ 2567 เหตุผล ที่มาทำไมจึงเรียก "อสม."

20 มี.ค. 2567 | 00:05 น.
3.1 k

วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ หรือ วัน อสม.แห่งชาติ ตรงกับวันที่ 20 มีนาคมของทุกปี ชวนรู้จัก อสม.เป็นใคร และทำไมจึงชื่อ อสม. พร้อมประวัติและความเป็นมา

20 มีนาคมของทุกปี เป็นวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ หรือ วัน อสม.แห่งชาติ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ให้ทุกวันที่ 20 มีนาคมของทุกปี เป็นวัน อสม.แห่งชาติ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจรวมถึงส่งเสริมให้ อสม.ได้รวมพลังสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนไทยโดยได้ดำเนินการจัดงานครั้งแรกขึ้นตั้งแต่ปี 2537 

ทำความรู้จัก อสม.

อาสาสมัครสาธารณสุข คือ ประชาชนในหมู่บ้าน เป็นชาวบ้าน ไม่ใช่เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข โดยกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า อาสาสมัครสาธารณสุข คือ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชนในชุมชน และสามารถช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น ซึ่งคำว่า อสม. นั้น ย่อมาจาก 3 คำ ได้แก่ 

  • อ. คือ อาสาสมัคร 
  • ส. คือ สาธารณสุข
  • ม.คือ หมู่บ้าน (ในอดีตมีเฉพาะการทำงานในระดับหมู่บ้าน)

หน้าที่ของ อสม.

อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) มีจุดเริ่มต้นจากการที่กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายที่จะให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึงและมีส่วนร่วมในการดำเนินงานและพัฒนาสาธารณสุข จึงได้นำเอาการสาธารณสุขมูลฐานมาเป็นกลวิธีหลักในการพัฒนา ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (2520-2524)

กิจกรรมสำคัญมุ่งสนับสนุนให้มีการดำเนินงานสาธารณสุขมูลฐานครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ และส่งเสริมให้ชุมชนตระหนักในความจำเป็น ที่จะต้องแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของชุมชนเองโดย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นฟันเฟืองสำคัญในการดำเนินงาน เป็นจิตอาสาที่เสียสละแรงกายแรงใจ เวลา และทุนทรัพย์ในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาหมู่บ้านให้สามารถพึ่งตนเองได้โดยมิได้รับค่าตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น

ด้วยเหตุนี้ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ผลักดันให้มีวันสำคัญของ อาสาสมัครสาธารณสุขทั่วประเทศขึ้น โดยในปี 2537 กระทรวงสาธารณสุขได้ขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้วันที่ 20 มีนาคมของทุกปี เป็น "วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ นับเป็นการเริ่มต้นจัดงานเฉลิมฉลองในนามวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ 20 มีนาคม 2537 เป็นต้นมา

คุณสมบัติ สาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.

1.มีความสมัครใจที่จะทำงานเพื่อส่วนรวมด้วยความเสียสละ และมีเวลาพอที่จะช่วยเหลือชุมชน

2.มีความรู้อ่านออกเขียนได้

3.เป็นผู้ที่ชาวบ้านไว้วางใจ

4.มีที่อยู่อาศัยและประกอบอาชีพในหมู่บ้านนั้น ๆ

5.มีอาชีพแน่นอนและมีรายได้เลี้ยงตนเอง

6.ตั้งบ้านเรือนอยู่ในสถานที่ที่ประชาชนไปติดต่อได้ง่าย

7.ไม่จำกัดเพศ และไม่จำกัดอายุ

8.ไม่ควรเป็นข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือแพทย์ประจำตำบล

ความสำเร็จที่ผ่านมา อสม.นับว่ามีบทบาทสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตโควิดมาได้ โดยปัจจุบัน อสม. มีจำนวน 1,075,163 คน มีภารกิจใหม่ที่เพิ่มขึ้นตามนโยบายรัฐบาลในการดูแล ส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคเพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยของประชาชนคนไทย