"เกียรติ สิทธีอมร" กางกฎหมายดึงสติ ปมที่ ส.ป.ก.- อุทยานฯ เขาใหญ่

28 ก.พ. 2567 | 18:44 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.พ. 2567 | 19:00 น.
501

เกียรติ สิทธีอมร อดีตคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ กางกฎหมาย พ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ดึงสติ ปมข้อพิพาท ที่ดิน ส.ป.ก. และ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

แม้ว่า กรมแผนที่ทหาร ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกันแก้ปัญหา กรณีที่ดิน ส.ป.ก. ทับซ้อน กับพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตามข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จนได้ข้อยุติว่า พื้นที่ดังกล่าว อยู่นอกเขตอุทยานฯ ตามการสำรวจ ของกรมแผนที่ทหาร แต่อย่างไรก็ตาม จากกันพื้นที่ดังกล่าวไว้ ให้เป็นแนวกันชน ไม่จัดสรรที่ดินให้แก่ชาวบ้านนำไปทำประโยชน์

แต่ถึงกระนั้น ก็ยังไม่เป็นที่สิ้นสุด เนื่องจากนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ยืนยันว่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีเส้นแบ่งเขตตามพระราชกฤษฎีกาที่ผ่านมติทุกเรื่องมาแล้ว พร้อมระบุไม่มีแนวกันชน และยืนยันว่าพื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่ของอุทยาน พร้อมพิสูจน์ในชั้นศาล

\"เกียรติ สิทธีอมร\" กางกฎหมายดึงสติ ปมที่ ส.ป.ก.- อุทยานฯ เขาใหญ่

นายเกียรติ สิทธีอมร สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ อดีตคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์พิเศษ กับฐานเศรษฐกิจ ถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาเรื่อง ที่ดิน ส.ป.ก. ที่ถูกระบุว่าทับซ้อนกับที่ดินอื่น สร้างผลกระทบต่อประชาชนมากกว่า 20,000 ครัวเรือน โดยบางพื้นที่ ประชาชนเข้าไปถางป่าเพื่ออยู่อาศัยอาศัยและทำกินตามนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้น เพื่อแก้ปัญหาคอมมิวนิสต์ จึงทำให้สภาพความเป็นป่าหมดสิ้นลงตั้งแต่ขณะนั้นแล้ว ต่อมาจึงได้ตรา พ.ร.ฎ. เพื่อให้ประชาชนเข้าไปทำกินได้ รวมถึงผู้ที่กลับใจในยุคนั้นสามารถใช้เป็นพื้นที่ทำกินได้

ต้องไม่ลืมว่าในอดีตไม่มี กรมอุทยาน เพราะป่าไม้และอุทยานอยู่ด้วยกัน จากนั้นได้มีพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม  พ.ศ.2518 ในมาตรา 26 (4) ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า ถ้าเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติส่วนใดแล้ว เมื่อ ส.ป.ก. จะนำที่ดินแปลงใดในส่วนนั้น ไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 

ให้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินมีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินแปลงนั้น และให้ ส.ป.ก. มีอำนาจนำที่ดินนั้นมาใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ โดยไม่ต้องดำเนินการเพิกถอนตามกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ นั่นหมายความว่าหมายความว่า หากมีการตรา พ.ร.ฎ. ให้พื้นที่ใดเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. แล้ว สิทธิของเจ้าของในพื้นที่เดิมต้องถูกเพิกถอนโดยอัตโนมัติ 

ปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจาก เมื่อมีการออกพ.ร.ฎ. กำหนดพื้นที่ ส.ป.ก.แล้ว แต่หน่วยงานอื่นไม่ปรับแก้แผนที่ของตนเอง ซึ่งถือว่ามีความผิด และยังเป็นสาเหตุทำให้เกิดความขัดแย้งในหลายพื้นที่ 

\"เกียรติ สิทธีอมร\" กางกฎหมายดึงสติ ปมที่ ส.ป.ก.- อุทยานฯ เขาใหญ่

กรณีพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่าง ส.ป.ก. และกรมอุทยานฯ กรณีพื้นที่ทับซ้อนครั้งนี้ ไม่มีใครพูดถึง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม  พ.ศ.2518 ทั้งที่ผูกพันกับ กรมอุทยานฯด้วย  

ในปี 2543 สมัยนายชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มีมติครม. ให้มีการสำรวจที่ดินร่วม ทั้งกรมป่าไม้ ,ส.ป.ก. และอุทยานที่เป็นส่วนหนึ่งของป่าไม้ในขณะนั้น ออกมาเป็นแนวเขตปี 2543 เรียบร้อยหมดแล้ว แต่ชุดต่อมาไม่ยอมนำไปตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ทั้งที่ แนวเขตปี 2543 เป็นแนวเขตที่ได้ข้อยุติร่วมกันทั้งหมดแล้ว เช่นอุทยานแห่งชาติเขาทับลาน แนวเขตปี 2543 ได้ตอบโจทย์ทั้งหมดแล้ว 

สำหรับกรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่า เคยตราเป็น พ.ร.ฎ. พื้นที่ ส.ป.ก. แล้วหรือไม่ เพราะหากเคยตราเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. แล้ว เจ้าของสิทธิเดิมต้องถูกเพิกถอนโดยอัตโนมัติ แต่หากกรมอุทยานโต้แย้งโดยการยึดตามแผนที่เดิมของตนโดยไม่ปรับแก้แผนที่ให้ถูกต้องจะถือว่ามีความผิด 

ไม่ควรมีการกล่าวอ้างเรื่องความรักป่า เพราะผู้อื่น หน่วยงานอื่น ก็มีความรักป่าได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นไม่ควรมุ่งดำเนินคดีกับชาวบ้านอีก ต้องไม่เอาคดีอาญาไปขู่กรรโชกประชาชน อาจสุ่มเสี่ยงมีมีความผิดตาม ป.วิอาญา มาตรา 200 มีโทษจำคุก 10ปีได้ เพราะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐต้องเจรจาประสานงานกันให้ได้ข้อยุติเสียก่อน 

การที่ตนเคยนั่งอยู่ในคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ เนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนจากกรณีเช่นนี้ จึงต้องมีการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาและกำหนดแผนที่ให้เป็นฉบับเดียวกัน หรือ one map 

ในอดีตได้มีการโต้แย้งกรณีนับเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. และเพิกถอนสิทธิเจ้าของเดิม เมื่อใดระหว่างเมื่อได้มีการตราเป็น พ.ร.ฎ. หรือเมื่อมีการออกใบแข็ง ส.ป.ก. ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าเมื่อได้มีการประกาศเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. แล้ว ย่อมมีผลครอบคลุมทั้งพื้นที่ตามประกาศแล้ว

นายเกียรติ ได้กล่าวทิ้งท้ายถึงข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ว่า ไม่มีใครเป็นฮีโร่ทั้งสิ้น มีแต่ประชาชนที่เป็นผู้เสียประโยชน์ ท้ายที่สุดต้องกลับไปที่การสำรวจร่วม ซึ่งหากเคยทำมาแล้วโดยคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ ก็ให้ยึดตามแนวเขต 2543 แต่หากมีส่วนไหนที่ยังไม่ได้ดำเนินการสำรวจก็ให้สำรวจเสียใหม่ แต่อย่ามีการดำเนินคดีกับประชาชนเช่นที่เกิดขึ้นนี้ 

นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลต้องให้แนวทางในการแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง โดยยึดตามกฎหมายสำคัญคือ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม  พ.ศ.2518 ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้ใดกล่าวถึงกฎหมายฉบับดังกล่าวเลย