นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และโฆษกกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบกเตือนประชาชนที่ต้องการซื้อขายรถมือสอง หลีกเลี่ยงการซื้อขายรถด้วยวิธีการโอนลอยโดยเซ็นเอกสารไว้แล้วมาดำเนินการในภายหลัง เนื่องจากอาจก่อปัญหาให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย เช่น กรณีผู้ซื้อไม่ดำเนินการชำระภาษีรถประจำปี รถเกิดอุบัติเหตุ หรือนำรถไปกระทำผิดกฎหมายซึ่งยังคงปรากฏชื่อเจ้าของรถรายเดิมในระบบทะเบียน สร้างปัญหายุ่งยากให้เจ้าของรถรายเดิม นอกจากนี้การไม่นำรถเข้ามาดำเนินการโอนทางทะเบียนยังทำให้ผู้ซื้อไม่อาจตรวจสอบความถูกต้องของรถได้โดยสมบูรณ์ว่าเป็นรถที่ถูกโจรกรรมมาหรือไม่อีกด้วย
ทั้งนี้กรมการขนส่งทางบกได้กำชับทั้งผู้ซื้อหรือผู้ขายต้องตรวจสอบแหล่งที่มาของรถก่อนการซื้อขายทุกครั้งเพื่อเป็นข้อมูลประกอบก่อนตัดสินใจ และต้องตรวจสอบหลักฐานทะเบียนรถให้ครบถ้วนเพื่อการซื้อขายที่ถูกต้องโดยเฉพาะสมุดคู่มือรถฉบับจริงที่มีชื่อเจ้าของรถ เลขตัวถัง เลขเครื่องยนต์ สีรถ ต้องถูกต้องตรงกับรถคันที่จะซื้อขายทุกรายการ
นอกจากนี้ต้องตรวจสอบว่ามีการชำระภาษีรถประจำปีครบถ้วนถูกต้อง พร้อมนำรถเข้าตรวจสภาพและดำเนินการตามขั้นตอนโอนทางทะเบียนรถ ณ สำนักงานขนส่งที่รถจดทะเบียนด้วยตนเองในทันที
สำหรับหลักฐานการโอนที่ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องเตรียมมาโอนรถ ณ สำนักงานขนส่ง ได้แก่
1.ใบคู่มือจดทะเบียนรถหรือเล่มทะเบียนรถตัวจริง
2. หลักฐานประจำตัวผู้โอนและผู้รับโอน
3.สัญญาซื้อขาย ใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษี (ถ้ามี)
4.แบบคำขอโอนและรับโอนที่กรอกรายการและลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอน ในกรณีเป็นนิติบุคคล ต้องใช้หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม
อย่างไรก็ตามกรมการขนส่งทางบกจะมีการตรวจสอบทะเบียนรถด้วยระบบฐานข้อมูล MDM (Master Data Management) สามารถตรวจสอบความถูกต้องของทะเบียนรถ ข้อมูลต่างๆ ได้แม่นยำ เพื่อความมั่นใจในการซื้อขายรถ ทั้งนี้ระบบจะดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ครอบครองรถในทันทีที่ได้รับข้อมูลการแก้ไข อีกทั้งยังเชื่อมโยงออนไลน์พร้อมกันทั่วประเทศในทุกระบบงาน ดังนั้นชื่อผู้ครอบครองรถที่ปรากฏในระบบ จึงตรงกับที่ระบุในเล่มทะเบียนรถ กรมการขนส่งทางบกแนะนำให้ผู้ที่ต้องการซื้อขายรถมือสองทำตามขั้นตอนที่แนะนำเพื่อความปลอดภัยในการโอนรถ และไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ