ชิปปิ้งหมู ลุยฟ้องปศุสัตว์ ศุลกากร เรียกคืน 4.7 ล้าน

13 ธ.ค. 2566 | 20:27 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ธ.ค. 2566 | 20:51 น.
718

ชิปปิ้งหมู "สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์" ลุยฟ้องศาลปกครองกลาง ขอคุ้มครองชั่วคราว ยกเลิกคำสั่งกรมปศุสัตว์-ศุลกากรโดยมิชอบ พร้อมเรียกมูลค่าความเสียหายคืน 4.7 ล้าน

จากกรณีที่ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้แจ้งข้อกล่าวหา ต่อบริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด และ บริษัท สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด โดยมี นายบริบูรณ์ ลออปักษิณ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม ฐานนำของผ่าน หรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดเกี่ยวกับของนั้น ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558

สืบเนื่องจาก กองสารวัตรและกักกัน กรมปศุสัตว์ ได้กักมันหมู-เนื้อหมู ของบริษัท ทั้ง 2 ไว้ที่ท่าเรือแหลมฉบัง แบ่งออกเป็นของ สินค้าเนื้อหมู จำนวน 38 ตู้ ของบริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งฟ้องศาลปกครองกลางไปแล้ว มูลค่าความค่าเสียหาย จำนวน 246 ล้านบาท และ สินค้ามันหมู จำนวน 2 ตู้ มูลค่า 2 ล้านบาทของบริษัท สมายล์ ท็อป เคฯ

บริบูรณ์ ดับเครื่องชนกรมปศุสัตว์ ปมหมูเถื่อน แฉถูกเรียกรับผลประโยชน์

ล่าสุด (13 ธันวาคม 2566) นายบริบูรณ์ ลออปักษิณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จํากัด ได้มอบอำนาจให้ทนายความ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง กล่าวหา  กรมปศุสัตว์ ,อธิบดีกรมปศุสัตว์ ,หัวหน้าด่านกักกันสัตว์ชลบุรี ,ผู้อำนวยการกองสารวัตรและกักกัน และผู้อำนวยการส่วนบริการศุลกากร เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-5

โดยในคำฟ้องระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐ หรือหน่วยงานทางปกครอง กระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยการออกกฎ คำสั่งหรือการกระทำอื่นใด หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบและกระทำละเมิดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางบริษัท  

พร้อมขอให้ศาลปกครองกลาง  มีคําสั่งหรือคําพิพากษาเพิกถอนคําสั่งไม่อนุญาตนําสัตว์หรือซากสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักร พร้อมมีคําสั่งทุเลาคำสั่งเพื่อให้บริษัทผู้ฟ้องคดีสามารถนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรตามพิธีการศุลกากรได้ตามปกติ

ในคำฟ้อง ยังขอศาลปกครองกลางเพิกถอนหนังสือส่วนบริการศุลกากร 1 เรื่อง ของค้างบัญชีเรือตกเป็นของตกค้างตามกฎหมาย และหนังสือเรื่อง ของตกค้างที่เป็นของต้องกํากัด(ของบางชนิด ที่กฎหมายควบคุมการนำเข้ามา และการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร การนำเข้าและการส่งออกของต้องกำกัด ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องซึ่งจะต้องนำมาแสดงในเวลาปฏิบัติพิธีการศุลกากรด้วย) และให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติตามพิธีการศุลกากรต่อสินค้าของบริษัทผู้ฟ้องคดีให้ถูกต้อง

เพื่อให้สินค้าของผู้ฟ้องคดีไม่ต้องตกเป็นของต้องกําจัด ไม่ถูกยึดหรืออายัดไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 อย่างถูกต้อง และห้ามไม่ให้ทําอันตราย ทําให้เสียหาย หรือทําลายซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ของผู้ฟ้องคดี ที่ได้ยื่นขออนุญาตนําเข้าไว้ตามกฎหมาย จนกว่าคดีจะถึงที่สุด เพื่อคุ้มครองมิให้ผู้ฟ้องคดีเสียหาย จากการกระทําที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นละเมิด

รวมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย จํานวน 4,739,880.20 บาท พร้อมทั้ง ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ตั้งแต่ วันฟ้องจนกว่าจะชําระเสร็จ