"สทนช."ผนึก 5 หน่วยงานนำร่องจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำโขงเหนือ

11 พ.ย. 2566 | 13:53 น.
อัปเดตล่าสุด :11 พ.ย. 2566 | 13:54 น.

สทนช.ผนึก 5 หน่วยงานนำร่องจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำโขงเหนือ ก่อนขยายผลครอบคลุมพื้นที่ต้นแบบลุ่มน้ำหลักภาคเหนือ เดินหน้าแผนอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรน้ำอย่างเป็นรูปธรรม

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช.ได้ดำเนินการร่วมกับกรมพัฒนาที่ดิน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรน้ำ เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟูระบบนิเวศ และป้องกันการชะ ล้างพังทลายของดินแบบบูรณาการ ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี

ทั้งนี้ ได้ร่วมกันกำหนดพื้นที่นำร่อง 6 ลุ่มน้ำหลักของพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ ลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำโขงเหนือ ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน เพื่อเป็นต้นแบบการดำเนินการบูรณาการอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะพื้นที่ต้นน้ำและพื้นที่เกษตรลาดชันซึ่งเสี่ยงต่อการพังทลายของดิน เป็นการผสมผสานรูปแบบการจัดการพื้นที่โดยใช้มาตรการเชิงนิเวศ (Nature based Solution) ร่วมกับการปรับรูปแบบการใช้ที่ดินให้เหมาะสม เกิดการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป 

สำหรับลุ่มน้ำโขงเหนือ จังหวัดเชียงราย เป็น 1 ใน 6 พื้นที่ลุ่มน้ำต้นแบบของการดำเนินการด้านการอนุรักษ์ระบบนิเวศทรัพยากรน้ำอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้แผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี เนื่องด้วยลุ่มน้ำโขงเหนือ ประสบปัญหาด้านอุทกภัยและภัยแล้งเป็นประจำจากปัจจัยหลายอย่าง 

ทั้งพื้นที่ป่าไม้ถูกบุกรุกเพื่อทำการเกษตร ทำให้ช่วงหน้าฝนน้ำไหลหลากรวดเร็วและมีปริมาณน้ำหลากสูงขึ้น ลำน้ำตื้นเขิน ความลาดชันลำน้ำตอนล่างน้อยทำให้ความจุลำน้ำไม่เพียงพอต่อการไหลหลากของน้ำจากพื้นที่ตอนบน 

สทนช.ผนึก 5 หน่วยงานนำร่องจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำโขงเหนือ

รวมถึงมีสิ่งกีดขวางทางน้ำทำให้ประสิทธิภาพการระบายน้ำลดลง ที่สำคัญไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภคได้อย่างเพียงพอ เกิดปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องมีการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมและบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง 

อย่างไรก็ดี โครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำโขงเหนือ เป็นแนวทางหนึ่งของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของลุ่มน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากผังน้ำจะเป็นตัวกำหนดขอบเขตพื้นที่ทางน้ำหลาก เพื่อใช้เป็นพื้นที่ระบายน้ำแทนการใช้ประโยชน์ด้านอื่นที่จะขวางการไหลของน้ำ รวมถึงเป็นเกณฑ์ในการออกแบบอาคารหรือประตูระบายน้ำ เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นทั้งการชะลอการไหลของน้ำในฤดูฝนและการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง 

สอดคล้องกับสภาพปัญหาและบริบทของชุมชน และสามารถนำผังน้ำไปเชื่อมโยงกับผังเมือง ใช้เป็นกรอบกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินและการใช้ประโยชน์แหล่งน้ำให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งการกำหนดขอบเขตเส้นทางน้ำอย่างชัดเจน มีการจัดระบบอนุรักษ์ลำน้ำ และแจ้งให้ประชาชนทราบถึงพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยระดับต่างๆ จะช่วยเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินในระบบทางน้ำลดความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตรายและความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

และทำให้ประชาชนตระหนักถึงการทำกิจกรรมใดๆ ที่จะก่อให้เกิดการเบี่ยงเบนทางน้ำหรือสิ่งกีดขวางการไหลของน้ำในระบบทางน้ำ อันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานตามแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งและน้ำท่วม 

ดร.สุรสีห์ กล่าวอีกว่า สทนช.ได้มอบหมายให้บริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัทที่ปรึกษา ศึกษาโครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำโขงเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงรายและพะเยา เพื่อศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับองค์ประกอบของผังน้ำให้ครอบคลุมทุกมิติ โดยนำไปเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำที่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมภัยแล้ง ควบคู่กับการอนุรักษ์ ฟื้นฟูระบบนิเวศ และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรดินและน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ส่วนสถานการณ์น้ำของจังหวัดเชียงรายนั้น เขื่อนแม่สรวย อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เป็นแหล่งน้ำสำรองสำหรับส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ลาว ประมาณ 148,000 ไร่ ส่งน้ำให้กับพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนแม่สรวยได้รับประโยชน์จำนวน 2,000 ไร่ และต้องส่งน้ำเพื่อการประปาในเขตเทศบาลแม่สรวย ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเก็บกัก 73 ล้านลบ.ม. เต็มความจุอ่าง 100% มีปริมาณน้ำใช้การได้ 70 ล้านลบ ม.

ขณะที่เขื่อนเชียงราย เป็นโครงการก่อสร้างบนลำน้ำสายแม่กก อ.เมือง จ.เชียงราย เพื่อเก็บกักและยกระดับน้ำในลำน้ำกกและลำน้ำสาขา ควบคุมระดับน้ำเข้าสู่พื้นที่สองฝั่งลำน้ำด้วยระบบส่งน้ำด้วยแรงโน้มถ่วง สำหรับใช้เป็นแหล่งน้ำในการอุปโภคบริโภคและการทำการเกษตรในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง พื้นที่เพาะปลูกประมาณ 78,000 ไร่ ในเขตพื้นที่อำเภอเวียงชัย กิ่งอำเภอเวียงรุ้ง และอำเภอเมือง รวม 57 หมู่บ้าน ดังนั้น การบริหารจัดการน้ำจึงมีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงกิจกรรมการใช้น้ำ เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ รวมถึงต้องบริหารจัดการน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัยควบคู่ไปด้วย