มหิดลจับมือเอกชน ดันนวัตกรรมสารฆ่าเชื้อ ลดวิกฤตโรคอุบัติใหม่

25 ต.ค. 2566 | 15:12 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ต.ค. 2566 | 15:21 น.

มหิดลจับมือเอกชน เดินหน้านวัตกรรมสารฆ่าเชื้อจากห้องทดลองสู่เชิงพาณิชย์ หวังลดวิกฤตโรคอุบัติใหม่-เชื้อโรคกลายพันธุ์ เล็งนำร่องทดสอบในสิงคโปร์เริ่ม 31 ต.ค.นี้

ผศ.ดร.ชญาณิศา ชิติโชติปัญญา อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการวิจัยและพัฒนาสารฆ่าเชื้อ กล่าวว่า ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตโรคอุบัติใหม่และการกลายพันธุ์ของเชื้อโรค รวมทั้งการติดเชื้อในโรงพยาบาลที่มีอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือดสูง 24 เปอร์เซ็นต์ และมากถึง 52 เปอร์เซ็นต์สำหรับผู้ป่วยในห้องไอซียู

มหิดลจับมือเอกชน ดันนวัตกรรมสารฆ่าเชื้อ ลดวิกฤตโรคอุบัติใหม่

 “จากปัญหาดังกล่าว ทีมของเราจึงได้วิจัยและพัฒนานวัตกรรมน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีคุณสมบัติ controlled release หรือการปลดปล่อยสารออกฤทธิ์ที่ควบคุมได้ และ long lasting effect หรือออกฤทธิ์นาน โดยการสร้างฟิล์มและปล่อย ROS (Reactive Oxygen Species) เพื่อฆ่าเชื้อโรคอยู่ตลอดเวลา ทำให้พื้นผิวออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อได้นานถึง 1 ปี"

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นมานี้ได้ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย 7 สายพันธุ์หลักที่ก่อโรคติดเชื้อในห้องไอซียูของโรงพยาบาลได้ 99.99 เปอร์เซ็นต์ และฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้ 99.99 เปอร์เซ็นต์

 

 นอกจากนี้ยังผ่านการทดสอบความปลอดภัยต่อเซลล์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม หรือ cytotoxicity test และมีผลงานตีพิมพ์ที่ได้รับการยอมรับในวารสารวิชาการระดับนานาชาติอีกด้วย

มหิดลจับมือเอกชน ดันนวัตกรรมสารฆ่าเชื้อ ลดวิกฤตโรคอุบัติใหม่

 ผศ.ดร.ชญาณิศา กล่าวต่อว่า ทีมงานที่ร่วมวิจัยและพัฒนามีประสบการณ์ทางด้านการพัฒนาสารฆ่าเชื้อให้มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และรา โดยเฉพาะเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดปัญหาการติดเชื้อภายในโรงพยาบาล

ขณะเดียวกันยังมีความเชี่ยวชาญทางด้าน surface modification หรือการปรับเปลี่ยนพื้นผิว ให้พื้นผิวของวัสดุต่างๆ มีคุณสมบัติเฉพาะ อาทิ คุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรค ป้องกันการกัดกร่อน และการขัดผิวโลหะสำหรับอุปกรณ์การแพทย์ โดยผ่านการทำงานวิจัยและร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมมามากกว่า 15 ปี

มหิดลจับมือเอกชน ดันนวัตกรรมสารฆ่าเชื้อ ลดวิกฤตโรคอุบัติใหม่

 ดร.ชญาณิศา กล่าวต่อว่า ทีมงานได้วิเคราะห์ถึงสภาพปัญหาและความสำคัญของการต่อยอดนวัตกรรมน้ำยาฆ่าเชื้อฯ จึงมีความคิดว่า ควรจัดตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมา เพื่อผลักดันนวัตกรรมในห้องทดลองที่ได้รับการพิสูจน์ประสิทธิภาพและความปลอดภัยสู่เชิงพาณิชย์

 

ทั้งนี้จึงได้ร่วมมือกับนางสาวภิญญ์ชยุตม์ อัครกุลศานต์ ประธานกรรมการบริษัท เอ็มกรุ๊ป โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด จัดตั้งบริษัท เอ็ม เคมิ จำกัด ขึ้น ซึ่งเป็นการสปินออฟจากมหาวิทยาลัยมหิดล ส่วนที่มาของชื่อบริษัท M CHEMI ผศ.ดร.ชญาณิศา เปิดเผยว่ามาจาก M Group และ CHEMI ซึ่ง CHEMI มาจาก “Chemistry” รวมกับ “Miracle” ซึ่งหมายถึงความมหัศจรรย์ของเคมี

 

นางสาวภิญญ์ชยุตม์ ผู้ร่วมลงทุนในการสปินออฟงานวิจัยของ ม.มหิดลในครั้งนี้ กล่าวว่า เอ็มกรุ๊ปมีแนวทางในการสนับสนุนนักวิจัยให้สามารถพัฒนาผลงานนวัตกรรมของตนเองสู่เชิงพาณิชย์ ไม่อยากให้งานวิจัยที่มีศักยภาพสูงในทางธุรกิจไม่ได้รับการต่อยอดอย่างเหมาะสม

 

 "ก่อนหน้านี้ตนได้ร่วมก่อตั้งบริษัท ไบโอม จำกัด ที่สปินออฟจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาแล้ว และในส่วนของผลิตภัณฑ์ของเอ็มเคมิ บริษัทได้พัฒนาน้ำยาเคลือบพื้นผิวที่มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียออกมาเป็นที่เรียบร้อย"

 

อย่างไรก็ตามงานวิจัยดังกล่าวกำลังจะนำผลิตภัณฑ์ชุดแรกไปร่วมงาน Tech Innovation ครั้งที่ 11 ที่ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม ถึงวันที่ 2 พฤศจิกายนนี้