เริ่มแล้ว รฟม. เปิดให้บริการที่จอดรถอัตโนมัติ MRT สถานีเพชรบุรี

03 ต.ค. 2566 | 16:26 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ต.ค. 2566 | 16:31 น.
2.8 k

ดีเดย์วันแรก “รฟม.” เปิดให้บริการที่จอดรถอัตโนมัติ บนรถไฟฟ้า MRT สถานีเพชรบุรี หวังเพิ่มช่องจอดรถ 32 คัน เผยคิดค่าจอดรถเริ่ม 15 บาทต่อ 2 ชั่วโมง

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม.เปิดให้บริการที่จอดรถอัตโนมัติ หรือ Robot Parking บริเวณลานจอดรถสถานีเพชรบุรี ของรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) จำนวน 2 เครื่อง ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ช่วยเพิ่มจำนวนช่องจอดรถของลานจอดรถสถานีเพชรบุรีได้อีก 32 คันทำให้ลานจอดรถสถานีเพชรบุรีมีศักยภาพรองรับรถยนต์ได้ ทั้งหมด 54 คัน 

เริ่มแล้ว รฟม. เปิดให้บริการที่จอดรถอัตโนมัติ MRT สถานีเพชรบุรี

ขณะเดียวกันรฟม.ยังคงคิดอัตราค่าบริการที่จอดรถตามปกติ (กรณีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าคิดอัตราค่าจอดรถ 15 บาท ต่อ 2 ชั่วโมง และ ผู้ไม่ใช้บริการรถไฟฟ้า คิดอัตราค่าจอดรถ 50 บาท ต่อ 1 ชั่วโมง)   ซึ่งถือเป็นลานจอดรถที่มีบริการระบบ Robot Parking เป็นแห่งที่ 3 ต่อจากสถานีสามย่าน (จำนวน 1 เครื่อง) และสถานีห้วยขวาง (จำนวน 3 เครื่อง)
 

ทั้งนี้รฟม. ได้จัดทำโครงการเพิ่มพื้นที่จอดรถในเส้นทางรถไฟฟ้า MRTสายสีน้ำเงินด้วยการนำเอาเทคโนโลยีระบบที่จอดรถยนต์ อัตโนมัติเข้ามาให้บริการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของพื้นที่จอดรถที่มีอยู่อย่างจำกัดและเป็นการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการ ซึ่งระบบที่จอดรถอัตโนมัติดังกล่าวนี้ มีความปลอดภัยตามมาตรฐานที่กำหนด มีความแข็งแรงคงทนทั้งฐานรากและโครงสร้าง มีการปรับพื้นดินที่ติดตั้ง รวมถึงการเทคานคอดินตามมาตรฐานความปลอดภัย

 

นอกจากนี้โครงการมีการเจาะเสาเข็มลึกลงไปในชั้นดินกว่า 21 เมตร เช่นเดียวกับอาคารทั่วไป ตัวโครงสร้างรวมถึงระบบต่างๆ สามารถใช้งานกลางแจ้งได้ ทนแดดและฝนได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ โครงสร้างสามารถรับแรงลม (Wind Load) ได้ถึง 108 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รวมถึงสามารถรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ถึง 7 ริกเตอร์ ในกรณีไฟฟ้าดับ สามารถควบคุมรถลงด้วยมือ (Manual) โดยการปลดเบรกมอเตอร์ ซึ่งจะอยู่ในการควบคุมจากช่างผู้ชำนาญเท่านั้น 
 

เริ่มแล้ว รฟม. เปิดให้บริการที่จอดรถอัตโนมัติ MRT สถานีเพชรบุรี

อย่างไรก็ตาม รฟม. ได้จัดให้มีประกันภัย คุ้มครองความสูญเสีย หรือเสียหายต่อทรัพย์สินของผู้ใช้งานเครื่อง ตัวอย่างเช่น เหตุจากไฟไหม้ ฟ้าผ่า น้ำท่วม แผ่นดินไหว ลมพายุต่างๆ รวมถึงมีประกันภัยคุ้มครอง ความสูญเสีย หรือเสียหายต่อชีวิตด้วย ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการว่าจะได้รับความ  ปลอดภัยในการใช้บริการจากระบบดังกล่าว