กอนช. เตือนระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูง 22 – 26 ก.ย.นี้ 

21 ก.ย. 2566 | 17:00 น.

กอนช. ออกประกาศแจ้งเตือนประชาชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้นช่วงระหว่างวันที่ 22 – 26 กันยายน 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 21 กันยายน 2566 ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 19/2566 ลงวันที่ 20 กันยายน 2566 แจ้งเฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงวันที่ 22 – 26 กันยายน 2566

โดย กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามสถานการณ์น้ำ พบว่า มีฝนตกหนักและตกสะสมในภาคเหนือ และภาคกลาง คาดการณ์จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำจังหวัดนครสวรรค์ (C.2) อยู่ในเกณฑ์ 900 – 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และมีน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังและลำน้ำสาขาไหลมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยา ปริมาณ 90 - 120 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยา อยู่ในเกณฑ์ 990 – 1,320 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ดังนั้น จึงมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น อยู่ในเกณฑ์ 700 – 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.60 – 0.80 เมตร

ส่วนผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวง 5 หน่วยปฏิบัติการ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและป่าไม้ 6 จังหวัด ได้แก่ จ.ลพบุรี จ.สระบุรี จ.กาญจนบุรี จ.นครราชสีมา จ.เพชรบุรี และจ.ประจวบคีรีขันธ์ ส่งผลทำให้เติมน้ำต้นทุนอ่างเก็บน้ำ 9 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำกิ่วลม อ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ อ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก อ่างเก็บน้ำศรีนครินทร์ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน อ่างเก็บน้ำปราณบุรี อ่างเก็บน้ำห้วยไทรงาม และอ่างเก็บน้ำยางชุม

ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ 21 – 22 ก.ย. 66 ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทศไทยมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนในช่วงวันที่ 23 – 26 ก.ย. 66

ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางตอนล่างรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบนประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก โดยมีฝนตกหนักถึง
หนักมากในภาคใต้

อย่างไรก็ดี เพื่อการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนโดยเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2566 นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ลงพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำ และติดตามการดำเนินงานตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 และ 3 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 เพิ่มเติม เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ ณ เขื่อนทดน้ำผาจุก อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี และเขื่อนสิริกิติ์