เตือนฝนตกหนัก เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก 5-10 ก.ย.นี้

03 ก.ย. 2566 | 16:15 น.
5.5 k

กรมชลประทาน เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ช่วงวันที่ 5-10 กันยายน 2566 หลัง กอนช. ประกาศเตือนมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่

3 กันยายน 2566 จากการติดตามสภาพอากาศและการประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์และคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ในช่วงวันที่ 5-10 กันยายน 2566 ในพื้นที่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ ทั้งยังพบพื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่งและท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณริมแม่น้ำน่าน และลำน้ำสาขา จังหวัดน่านนั้น

ล่าสุด นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลฯ ได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่เสี่ยง โดยได้สั่งการให้โครงการชลประทานติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ

รวมถึงติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และบริเวณจุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำ

พร้อมทั้งได้สั่งให้ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารชลประทาน ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักร เครื่องมือ ระบบสื่อสารสำรอง บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำ พร้อมเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันที

สำหรับประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ฉบับที่ 17/2566 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ระบุว่า จากการประเมินของ กอนช. ได้วิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณต้นน้ำ จากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ในช่วงวันที่ 5 – 10 กันยายน 2566 ดังนี้

1.พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม 

ภาคเหนือ 

  • เชียงใหม่ (อำเภออมก๋อย) 
  • แม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน)
  • ตาก (อำเภอท่าสองยาง อุ้มผาง แม่สอด แม่ระมาด และพบพระ) 
  • แพร่ (อำเภอร้องกวาง) 
  • น่าน (อำเภอปัว บ่อเกลือ เชียงกลาง ทุ่งช้าง ท่าวังผา เฉลิมพระเกียรติ และสองแคว) 
  • พิษณุโลก (อำเภอนครไทย และเนินมะปราง) 
  • เพชรบูรณ์ (อำเภอเขาค้อ และเมืองเพชรบูรณ์) 
  • อุตรดิตถ์ (อำเภอน้ำปาด) 
  • กำแพงเพชร (อำเภอคลองลาน)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

  • เลย (อำเภอภูเรือ) 
  • ชัยภูมิ (อำเภอหนองบัวแดง) 
  • มุกดาหาร (อำเภอหว้านใหญ่ และอำเภอเมืองมุกดาหาร) 
  • นครพนม (อำเภอธาตุพนม) 
  • นครราชสีมา (อำเภอปากช่อง)

ภาคตะวันออก 

  • ฉะเชิงเทรา (อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา บ้านโพธิ์ บางน้ำเปรี้ยว และบางปะกง) 
  • นครนายก (อำเภอปากพลี และองครักษ์) 
  • ปราจีนบุรี (อำเภอประจันตคามและบ้านสร้าง) 
  • จันทบุรี (อำเภอขลุง และแหลมสิงห์) 
  • ตราด (อำเภอคลองใหญ่ เกาะกูด เกาะช้าง เขาสมิง แหลมงอบ และบ่อไร่)

ภาคกลาง 

  • อุทัยธานี (อำเภอบ้านไร่)
  • กาญจนบุรี (อำเภอทองผาภูมิ)

ภาคใต้ 

  • นครศรีธรรมราช (อำเภอฉวาง และพิปูน) 
  • ระนอง (อำเภอเมืองระนอง) 
  • ภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต และถลาง)

2.พื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่งและท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ริมแม่น้ำน่านและลำน้ำสาขา จังหวัดน่าน

ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

1.ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน

2.เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ลอกท่อระบายน้ำ และบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที