เชียงใหม่ เตรียมรับมืออุทกภัย หลังอุตุฯเตือนมีฝนเพิ่ม 12-14 ส.ค.66

08 ส.ค. 2566 | 17:26 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ส.ค. 2566 | 17:33 น.

เชียงใหม่ กางแผนรับมืออุทกภัย หลังกรมอุตุนิยมวิทยา เตือนวันที่ 12-14 ส.ค.มีฝนตกหนัก-ฝนเพิ่ม พร้อมเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์

วันที่ 8 สิงหาคม 2566 จังหวัดเชียงใหม่ ได้ส่งหนังสือถึงนายอำเภอทุกอำเภอ ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อุทกภัย หลังกรมอุตุนิยมวิทยา ได้พยากรณ์อากาศวันที่  8-11 ส.ค. 66 ประเทศไทยมีฝนตกหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนในช่วงวันที่ 12 – 14 ส.ค. 66 ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้

 

โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ได้แจ้งให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือระวังอันตราย จากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทําให้เกิดน้ําท่วมฉับพลัน น้ําป่าไหลหลาก และดินสไลด์ โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ําไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย

ทั้งนี้จังหวัดเชียงใหม่ ได้แจ้งไปยังนายอำเภอทุกแห่ง และหน่วนงานที่เกี่ยวข้องให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ดังกล่าว  ซึ่งเบื้องต้นได้มีการดำเนินงานดังนี้ 


1. แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ให้ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการ และเฝ้าระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ให้เฝ้าระวังปริมาณฝนสะสม โดยพื้นที่ลาดเชิงเขา พื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ชุมชนเมือง อาจได้รับผลกระทบจากน้ําท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ําท่วมขัง และดินสไลด์ หากมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัย ให้สั่งการหน่วยงานที่รับผิดชอบ ประกาศแจ้งเตือน ประชาชน พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง

 

2. หากพบเห็นหรือได้รับผลกระทบ และต้องการความช่วยเหลือ เมื่อเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติ สามารถแจ้งเหตุผ่านทางโทรศัพท์สายด่วน 1784 หรือแจ้งผ่านไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยดําเนินการ เพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแจ้งผ่าน Application พ้นภัย

 

3. ให้พิจารณาใช้อุปกรณ์เตือนภัยที่มีในพื้นที่ เช่น หอเตือนภัย หอกระจายข่าว เครื่องรับ สัญญาณเตือนภัยผ่านดาวเทียม เพื่อแจ้งเตือนประชาชน

 

4. หากเกิดสถานการณ์สาธารณภัยในพื้นที่ ให้ดําเนินการให้ความช่วยเหลือ และให้ประสาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พลเรือน ทหาร ตํารวจ เครือข่ายอาสาสมัคร จิตอาสา หรือศูนย์ป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยเขต 10 ลําปาง ร่วมปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติ พร้อมทั้งรายงาน สถานการณ์ ให้กองอํานวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ทราบทันที เพื่อจะได้รายงานให้กองอํานวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางทราบต่อไป

จังหวัดเชียงใหม่ ส่งหนังสือถึงนายอำเภอทุกอำเภอ ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อุทกภัย
 

ด้านผู้ว่าฯ เชียงใหม่ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำปิง บริเวณจุด P.67 บ้านแม่แต อำเภอสันทราย  ซึ่งเป็นจุดวัดน้ำในแม่น้ำปิงก่อนไหลลงสู่เขตพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่ ภายหลังมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง  โดยพบว่าขณะนี้ปริมาณน้ำยังน้อยเมื่อเทียบกับระดับตลิ่งและปริมาณความจุของลำน้ำแม่น้ำปิง  ซึ่งปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน ณ เวลา 14.00 น. อยู่ที่ประมาณ 41 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 10 ของปริมาณความจุที่สามารถรองรับได้ถึงสูงสุดถึง 492 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที 

 

ขณะที่สำนักงานชลประทานที่ 1 และ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ ได้เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย นายจิรชัย พัฒนพงศา หัวหน้าฝ่ายบริหารจัดการน้ำ สำนักงานชลประทานที่ 1 เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำและการเฝ้าระวังอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 7 สิงหาคม 2566 พบว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลมีปริมาณน้ำร้อยละ 68 และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีปริมาณน้ำร้อยละ 55  ซึ่งทั้งสองเขื่อนมีน้ำมากกว่าปีที่แล้ว แต่ก็ยังมีพื้นที่รองรับน้ำได้อีกแห่งละกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนแผนการเพาะปลูกพืชในเขตชลประทานกว่า 520,000 ไร่ เพาะปลูกไปแล้ว 73 %

 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถานการณ์น้ำในลำน้ำต่าง ๆ ยังคงอยู่ในสภาวะปกติ และได้มีการพร่องน้ำที่ฝายแม่แตซึ่งเป็นต้นน้ำ เพื่อเตรียมรองรับปริมาณน้ำจากฝนที่จะตกลงมาอีกตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา โดยหากมีสถานการณ์วิกฤติทางชลประทานก็ได้มีการเตรียมแผนรองรับไว้รอบด้านแล้ว  ซึ่งเมื่อต้นน้ำ P.67 บ้านแม่แต อำเภอสันทราย อยู่ในจุดวิกฤติ อีกประมาณ 6-7 ชั่วโมง ที่จุด P.1 สะพานนวรัฐ ก็จะวิกฤติ และหากมีปริมาณน้ำมากก็จะได้มีการเปิดประตูระบายน้ำท่าวังตาล ดอยน้อย วังปาน และแม่สอย

 

นายอารุณ ปินตา หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่ยังไม่มีพื้นที่ประสบอุทกภัย แต่ด้วยมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ จึงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา 


อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยา ได้แจ้งเตือนว่าในห้วงวันที่ 12-14 สิงหาคม 2566 พื้นที่ภาคเหนือจะมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น และอาจเกิดปัญหาดินสไลด์ จึงต้องมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภออมก๋อย ดอยสะเก็ด และแม่ออน ที่มีปริมาณฝนสะสมจำนวนมาก ซึ่งหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินทางจังหวัดเชียงใหม่ได้มีแผนเผชิญเหตุรองรับในทุกด้าน ทั้งกำลังพล และยุทโธปกรณ์ ที่พร้อมให้การความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างทันท่วงที

สถานการณ์น้ำในจังหวัดเชียงใหม่

 

ที่มาข้อมูล-ภาพ

  • สำนักประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่