กรมอุตุฯเตือนฉบับ 1 ไทยฝนตกหนัก 16-20 ก.ค.66

14 ก.ค. 2566 | 13:41 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ค. 2566 | 14:02 น.

ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 1 เตือนวันที่ 16-20 ก.ค. ไทยฝนเพิ่ม กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง -ทะเลคลื่นลมแรง

วันที่ 14 กรกฎาคม 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับที่ 1 เรื่องฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย และคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 16 - 20 กรกฎาคม 2566

 

ทั้งนี้เนื่องจากร่องมรสุมกำลังแรงจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบนของประเทศไทย เข้าสู่หย่อมความกดกาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง 

 

ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย
 

สำหรับคลื่นลมจะมีกำลังค่อนข้างแรง โดยบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในช่วงนี้ไว้ด้วย

 

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยกรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับต่อไปใน วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 เวลา 17.00 น.

กรมอุตุฯเตือนฉบับ 1 ฝนถล่มไทย 16-20 ก.ค.66

 

 

 


ด้านกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์พบพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน ในช่วงวันที่ 15 – 20 ก.ค. 2566 โดยมีผลกระทบกับ 


ภาคเหนือ จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ 

  • จังหวัดเชียงราย (อำเภอแม่สาย และแม่จัน)
  • จังหวัดน่าน (อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ปัว และเชียงกลาง) 
  • จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน แม่ลาน้อย แม่สะเรียง ขุนยวม ปางมะผ้า ปาย และสบเมย) 
  • จังหวัดตาก (อำเภอแม่ระมาด แม่สอด พบพระ ท่าสองยาง และอุ้มผาง)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ 

  • จังหวัดหนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย) 
  • จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอเซกา และบึงโขงหลง) 
  • จังหวัดสกลนคร (อำเภอโคกศรีสุพรรณ) 
  • จังหวัดร้อยเอ็ด (อำเภอเสลภูมิ และโพนทอง) 
  • จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอบุณฑริก) 

ภาคตะวันออก จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ 

  • จังหวัดระยอง (อำเภอเขาชะเมา และแกลง) 
  • จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี ขลุง เขาคิชฌกูฏ ท่าใหม่ มะขาม และแก่งหางแมว) 
  • จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด บ่อไร่ เกาะช้าง และเกาะกูด) 

ภาคใต้ จำนวน 9 จังหวัด ได้แก่ 

  • จังหวัดชุมพร (อำเภอพะโต๊ะ) 
  • จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง สุขสำราญ และกะเปอร์) 
  • จังหวัดพังงา (อำเภอกะปง คุระบุรี ตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า และท้ายเหมือง) 
  • จังหวัดภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต กะทู้ และถลาง) 
  • จังหวัดกระบี่ (อำเภอเมืองกระบี่ เกาะลันตา คลองท่อม เหนือคลอง และอ่าวลึก) 
  • จังหวัดตรัง (อำเภอเมืองตรัง กันตัง ห้วยยอด และปะเหลียน) 
  • จังหวัดสตูล (อำเภอทุ่งหว้า มะนัง ท่าแพ และควนกาหลง) 
  • จังหวัดพัทลุง (อำเภอเมืองพัทลุง ป่าบอน และควนขนุน) 
  • จังหวัดนราธิวาส (อำเภอระแงะ)