วันประชากรโลก 11 ก.ค.2566 ประวัติและความสำคัญ

11 ก.ค. 2566 | 16:22 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.ค. 2566 | 16:46 น.
3.2 k

วันประชากรโลก ตรงกับวันที่ 11 กรกฎาคมของทุกปี วันสำคัญนี้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้ประชาคมโลกได้ตระหนักถึงประเด็นต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับ"การเพิ่มขึ้นของประชากรโลก"ซึ่งครอบคลุมไปถึงปัญหาประชากร การคุมกำเนิด และการวางแผนครอบครัว เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี

 

วันประชากรโลก (World Population Day) ถูกกำหนดขึ้นโดย คณะมนตรีประศาสน์การของสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนา ซึ่งช่วงแรกเริ่มเป็นการฉลองครบรอบวาระที่ ประชากรโลก มีจำนวนครบ 5,000 ล้านคนในวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2530

  • ต่อมาเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 ประชากรโลกเพิ่มจำนวนขึ้นไปถึง 6,727,551,263 คน
  • กระทั่งล่าสุด เมื่อวันที่ 15 พ.ย.2565 องค์การสหประชาชาติ(UN) ประกาศว่า ปัจจุบันโลกมีประชากรครบ 8,000 ล้านคนแล้ว โดยกว่าครึ่งอาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชีย
  • และเมื่อมองไปข้างหน้า ยูเอ็นคาดการณ์ประชากรโลกจะแตะระดับ 8,500 ล้านคนในปีพ.ศ.2573 และการพยากรณ์ที่ใกล้กว่านั้นก็คือ อินเดียจะแซงหน้าจีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกในปีนี้(2566) 

จุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์

ปี 2566 ยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญครั้งในประวัติศาสตร์โลกในแง่ประชากรศาสตร์ของเอเชียอีกด้วย โดยอินเดียจะขึ้นเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 1 ของโลกแซงหน้าจีนที่ครองแชมป์มาเนิ่นนานหลายปี ทั้งนี้ คาดว่า ประชากรอินเดีย จะเพิ่มเป็น 1,428.6 ล้านคน มากกว่าจีน 2.9 ล้านคน โดย ประชากรของจีน อยู่ที่ 1,425.7 ล้านคน

รายงานระบุว่า ตลอดเวลากว่า 70 ปีที่ผ่านมา จีนและอินเดียมีจำนวนประชากรรวมกันคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ของประชากรทั้งโลกที่มีอยู่กว่า 8,045 ล้านคนในปัจจุบัน แต่ในระยะหลัง อัตราการเกิดในจีนที่ลดลงอย่างต่อเนื่องมาพักหนึ่งแล้ว ทำให้ปี2565 เป็นปีแรกในรอบกว่า60 ปี หรือตั้งแต่ปี 1961 เป็นต้นมา ที่จำนวนประชากรจีนลดลง

คาดว่าปีนี้ประชากรอินเดียจะเพิ่มเป็น 1,428.6 ล้านคน แซงหน้าจีนที่มีประชากร 1,425.7 ล้านคน

ขณะเดียวกัน หันมามองที่อินเดีย ก็มีอัตราการเกิดที่ชะลอตัวลงเช่นกันในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา จากเดิมอัตราการเกิดอยู่ที่ 5.7 คนต่อผู้หญิง 1 คนเมื่อปี1950 ก็ลดลงเหลือ 2.2 คนในปัจจุบัน(ตามข้อมูลของธนาคารโลก)

ประชากรอินเดียยังนับว่าเป็นประชากรที่มีอายุน้อยกว่า(จีน)มากในภาพรวม โดยอินเดียมีคนอายุน้อย ระหว่าง 15-24 ปี มากที่สุดในโลก คือมีประชากรกลุ่มวัยนี้จำนวนมากกว่า 254 ล้านคน ทำให้การเติบโตของประเทศอินเดียจะส่งผลในเชิงเศรษฐศาสตร์และเป็นที่น่าจับตามอง

คาดปี 2023 ประชากรโลกเพิ่มเป็น 8.5 พันล้านคน
รายงาน World Population Prospects 2022 ของยูเอ็น ยังระบุด้วยว่า ประชากรโลกเติบโตในอัตราช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 1950 (พ.ศ.2493) โดยคาดว่าจะมีการเติบโตต่ำกว่า1% ในปีพ.ศ.2572

คาดการณ์ล่าสุดของยูเอ็นชี้ให้เห็นว่า ประชากรโลกอาจเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 8,500 ล้านคนในปีค.ศ.2030 (พ.ศ.2573) และจากนั้นก็เป็น 9,700 ล้านคนในปีค.ศ. 2050(พ.ศ.2593) ก่อนจะเพิ่มสู่จุดสูงสุดประมาณ 10,400 ล้านคนในช่วงปีค.ศ.2080 (พ.ศ.2623)และจะคงอยู่ที่ระดับนั้นไปจนถึงปีค.ศ.2100(พ.ศ.2643)

รายงานแนวโน้มประชากรโลกยังระบุด้วยว่า ภาวะเจริญพันธุ์ได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาในหลายประเทศ ทุกวันนี้ 2 ใน 3 ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในประเทศหรือพื้นที่ที่มีอัตราการเจริญพันธุ์ตลอดชีวิตต่ำกว่า 2.1 คนต่อผู้หญิง 1 คน 

ภาวะเจริญพันธุ์ได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาในหลายประเทศ

ประชากรจาก 61 ประเทศหรือเขตดินแดน คาดว่าจะลดลง 1% หรือมากกว่านั้นในระหว่างปีพ.ศ.2565-2593 อันเนื่องมาจากอัตราการเจริญพันธุ์ที่ต่ำอย่างต่อเนื่องและในบางกรณีเกิดจากอัตราการย้ายถิ่นฐานที่สูงขึ้น

การกระจุกตัวของประชากรโลก
มากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นที่คาดการณ์ไว้จนถึงปีพ.ศ.2593 จะกระจุกตัวอยู่ใน 8 ประเทศ ได้แก่

  • สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
  • อียิปต์
  • เอธิโอเปีย
  • อินเดีย
  • ไนจีเรีย
  • ปากีสถาน
  • ฟิลิปปินส์
  • และสหสาธารณรัฐแทนซาเนีย

ประเทศในอนุภูมิภาคทะเลทรายซาฮาราของแอฟริกาคาดว่าจะมีส่วนร่วมมากกว่าครึ่งหนึ่งของการเพิ่มขึ้นที่คาดการณ์ไว้จนถึงปี 2593

ประชากรโลกอายุขัยเพิ่มขึ้น
ขณะที่อายุขัยเฉลี่ยทั่วโลกสูงถึง 72.8 ปี ในปีพ.ศ. 2562 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 9 ปีเมื่อเทียบกับสถิติในปี 2533 คาดว่า การลดลงของอัตราการเสียชีวิตจะส่งผลให้อายุขัยเฉลี่ยทั่วโลกขยับสูงขึ้นไปอีก โดยไปอยู่ที่ 77.2 ปีภายในปีพ.ศ.2593 

การคุมกำเนิดและการวางแผนครอบครัว

สิ่งที่ควบคู่กันมากับการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก คือ การวางแผนครอบครัว เมื่อประชาชนรู้จักการวางแผนครอบครัว พวกเขาย่อมสามารถวางแผนชีวิตของตนเองและครอบครัว รู้วิธีขจัดความยากจนได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังรู้จักวางแผนให้มารดาและเด็กมีสุขภาพและอนามัยดีขึ้นได้ด้วย

ประเด็นน่าสนใจที่ตามมาก็คือ ปัญหาการเจริญพันธุ์ที่ต่ำกว่าระดับทดแทน(อัตราการเกิดน้อยกว่า 2.1 คนต่อผู้หญิงหนึ่งคน)รวมถึงปัจจัยเรื่องการย้ายถิ่นฐานที่สูงขึ้นด้วย ได้ทำให้หลายประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (ประมาณ 2 ใน 3 ของประชากรโลก)เร็วขึ้น ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่จำเป็นต้องเตรียมการรับมือให้พร้อม ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลกระทบเสียหายในเชิงเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก