บัญชีกลางจี้ “สำนักการโยธา กทม.” ตรวจวัสดุก่อสร้าง เหตุสะพานถล่ม

11 ก.ค. 2566 | 10:42 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ค. 2566 | 09:59 น.
677

กรมบัญชีกลางเผยเหตุสะพานถล่ม เขตลาดกระบัง เจ้าของโครงการ “สำนักการโยธา กทม.” มีหน้าที่ดูแล จี้ตรวจรายละเอียดวัสดุก่อสร้างตรงสัญญา TOR หรือไม่ ชี้หากผู้รับเหมาผิดส่วนราชการมีสิทธิไม่รับงาน

กรณีเกิดเหตุสะพานข้ามแยก บนถนนหลวงแพ่ง เขตลาดกระบัง ทรุดตัวและถล่ม เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 รายและได้รับบาดเจ็บอีกหลายราย เมื่อวันที่ 10 ก.ค.66 ที่ผ่านมานั้น

ล่าสุด รายงานข่าวจากกรมบัญชีกลาง แจ้งว่า สะพานข้ามแยกดังกล่าว เป็นโครงการก่อสร้างทางยกระดับ อ่อนนุช-ลาดกระบัง โดยสำนักการโยธา กทม. เป็นเจ้าของโครงการ รายการสะพานส่วนนี้ยังไม่ได้มีการตรวจรับ เนื่องจากการก่อสร้างถูกดีเลย์มาระยะหนึ่ง และช่วงหลังได้มีการเร่งก่อสร้าง จึงคาดว่าเหตุการณ์สะพานทรุดในครั้งนี้ น่าจะมีปัญหาจากเรื่องโครงสร้างในการทำ อย่างไรก็ดี จะต้องมีการเข้าไปสอบสวนอีกครั้งว่าเกิดอะไรขึ้น

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ในการจัดทำการจัดซื้อจัดจ้าง แต่ละหน่วยงานเป็นผู้จัดหา จะมีคณะกรรมการจัดจ้างของแต่ละหน่วยงาน โดยกรมบัญชีกลางมีระเบียบการป้องกันการทุจริตไว้เท่านั้น ในส่วนเนื้องานที่จะต้องทำให้ได้ตามสัญญาจะเป็นภารกิจของกรรมการจัดจ้าง กับคณะกรรมการตรวจรับซึ่งเจ้าของโครงการเป็นผู้ดูแล  

“การทำจัดจ้างเราใช้ TOR เป็นตัวตั้งว่าเราต้องการสินค้าที่ได้ตามสัญญา จากที่ผู้รับเหมามาเสนอราคา ว่าราคากับสิ่งที่เราอยากได้ไปด้วยกันได้หรือไม่ ส่วนมีการก่อสร้างโครงการแล้ว คณะกรรมการตรวจรับของหน่วยงานมีหน้าที่ตรวจรับว่าเป็นไปตามข้อกำหนดใน TOR หรือไม่ ส่วนกรมบัญชีกลางเป็นหน่วยออกระเบียบ เพื่อป้องกันการทุจริต หรือฮั้วกันในระหว่างการจัดการจัดซื้อจัดจ้างเท่านั้น”

สำหรับกรณีดังกล่าว เจ้าของโครงการ หรือคณะกรรมการตรวจรับของหน่วยงานนั้นจะต้องเป็นผู้ไปตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง ว่าสิ่งที่กำหนดไว้ในสัญญา ผู้รับเหมาสามารถดำเนินการใช้วัสดุก่อสร้าง และรายละเอียดอื่นๆ ตามคุณภาพที่ระบุในสัญญาหรือไม่

ขณะที่บทลงโทษจากการเกิดเหตุดังกล่าว ทางด้านคู่สัญญา ส่วนราชการมีสิทธิที่จะไม่รับงานจากผู้รับเหมา สิ่งที่บริษัทลงทุนไปอาจจะไม่ได้รับค่างานนั้นคืนกลับมา ส่วนกรณีที่ทำให้เกิดความเสียหายมีผู้เสียชีวิต จะต้องได้รับโทษตามกฎหมายทางแพ่งและอาญา