สวทช. เตือนเห็ดพิษอันตราย ภัยร้ายฤดูฝน

02 มิ.ย. 2566 | 12:12 น.
อัปเดตล่าสุด :02 มิ.ย. 2566 | 12:25 น.

สวทช.เตือนประชาชนระวังเห็ดพิษ ช่วงฤดูฝน ลุยสำรวจเก็บตัวอย่าง 2.6 พันชนิด จำแนกเห็ดพิษ เดินหน้าเพิ่มความรู้ให้ประชาชน

ดร.ศิษเฎศ ทองสิมา ผู้อำนวยการธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ นางสาวธิติยา บุญประเทือง หัวหน้ากลุ่มวิจัยเห็ด ธนาคารจุลินทรีย์ (NBMB) ภายใต้ธนาคาร ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (NBT) กล่าวว่า สำหรับกิจกรรม NSTDA Meets the Press เรื่อง “รู้ทันเห็ดพิษ ภัยร้ายฤดูฝน” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจถึงพิษภัยของเห็ดพิษให้แก่ประชาชน ภายหลังพบข่าวชาวบ้านใน ต.กกสะทอน อ.ด่านซ้าย จ.เลย จำนวน 9 คน เก็บเห็ดระงากหรือระโงกหินที่มีพิษนำไปทำอาหารบริโภค จนเกิดอาการท้องร่วง และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 2 คนนั้น

สวทช. เตือนเห็ดพิษอันตราย ภัยร้ายฤดูฝน

 ดร.ศิษเฎศ กล่าวต่อว่า ฤดูฝนคือฤดูกาลของการเก็บเห็ดป่าในธรรมชาติ ซึ่งต้องยอมรับว่าเห็ดป่ามีความสำคัญ ทั้งในแง่ของการเป็นแหล่งอาหารและรายได้ของชุมชน แต่ด้วยเห็ดมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีทั้งเห็ดกินได้และเห็ดมีพิษ เห็ดพิษบางชนิดมีรูปร่างคล้ายกับเห็ดกินได้อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเห็ดอ่อนในระยะดอกตูม จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิด และเป็นสาเหตุให้ประชาชนเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการรับประทานเห็ดพิษจำนวนมากทุกปี

ทั้งนี้ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ โดยทีมนักวิจัยพิพิธภัณฑ์เห็ดราของธนาคารจุลินทรีย์ มีความเชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานเห็ดราและดำเนินการสำรวจเก็บตัวอย่าง เพื่อจัดทำลักษณะทางสัณฐานวิทยาของเห็ดราในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบัน มีตัวอย่างเห็ดที่พบในประเทศไทยและเก็บเป็นหลักฐานในพิพิธภัณฑ์ฯ ประมาณ 49,635 ตัวอย่าง จำนวน 2,600 ชนิด

 

ที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกับศูนย์พิษวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในการตรวจวินิจฉัยชนิดของเห็ดป่าที่มีพิษตั้งแต่ปี 2551 ทำหน้าที่ช่วยจำแนกชนิดเห็ดพิษเมื่อมีกรณีผู้เจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากการบริโภคเห็ดพิษ

ขณะเดียวกันยังลงพื้นที่เก็บตัวอย่างเห็ดพิษ พร้อมทั้งศึกษาวิจัยรวบรวมข้อมูลการจัดจำแนกเห็ดพิษเบื้องต้น และจัดทำเป็นองค์ความรู้ในการสังเกตเห็ดพิษสำหรับอบรมถ่ายทอดให้แก่ชุมชน รวมถึงรณรงค์ให้ประชาชนมีความรู้ เพื่อลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการบริโภคเห็ดพิษ

 

นางสาวธิติยา บุญประเทือง หัวหน้ากลุ่มวิจัยเห็ด ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า การเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการบริโภคเห็ดพิษส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากผู้ที่ไม่ชำนาญในการเก็บเห็ด

สวทช. เตือนเห็ดพิษอันตราย ภัยร้ายฤดูฝน

ตัวอย่างเห็ดพิษที่พบบ่อยในประเทศไทยและเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ในแต่ละปี เช่น เห็ดในกลุ่มเห็ดระโงกพิษ อย่างเห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก หรือเห็ดไข่ตายซาก ซึ่งมีพิษร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต เห็ดชนิดนี้คล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาว หรือเห็ดไข่ห่านที่รับประทานได้

 

นางสาวธิติยา กล่าวว่า ที่ผ่านมาทีมวิจัยพิพิธภัณฑ์เห็ดราทำงานสนับสนุนศูนย์พิษวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ในการตรวจวินิจฉัยชนิดของเห็ดป่าที่มีพิษ โดยเมื่อมีเคสผู้ป่วยหรือเสียชีวิตจากการบริโภคเห็ดพิษ ทีมสืบสวนเคลื่อนที่เร็วในพื้นที่จะส่งตัวอย่างให้ศูนย์พิษวิทยาดำเนินการตรวจสารพิษ พร้อมทั้งส่งตัวอย่างบางส่วนให้ทีมวิจัยจำแนกชนิดเห็ด เพื่อยืนยันร่วมกันว่าเป็นเห็ดพิษจริงหรือไม่

สวทช. เตือนเห็ดพิษอันตราย ภัยร้ายฤดูฝน

ทั้งนี้การจัดจำแนกเห็ดพิษทำได้ง่ายและแม่นยำมากขึ้น ทีมวิจัยพัฒนาคลังข้อมูลเห็ดกินได้และเห็ดพิษในประเทศไทยจากการวิเคราะห์ ลายพิมพ์เพปไทด์ (กรดอะมิโนสายสั้น ๆ ที่เป็นส่วนสร้างสารพิษของเห็ด) ในตัวอย่างเห็ด ด้วยเครื่องวัดมวล MALDI-TOF (Matrix-Assisted Laser Desorption/Ionization-Time of Flight) ทำให้ได้ลายพิมพ์มวลเพปไทด์ของเห็ดแต่ละชนิดที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละสายพันธุ์ และรวบรวมเป็นคลังข้อมูลสำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการจัดจำแนกชนิดเห็ดและความเป็นพิษ

 

ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์เห็ดรามีการจัดทำลายพิมพ์มวลเพปไทด์ของเห็ดในประเทศไทยแล้วมากกว่า 200 ตัวอย่าง ข้อดีของการพัฒนาวิธีจำแนกชนิดเห็ดด้วยการวิเคราะห์ลายพิมพ์เพปไทด์ คือใช้ตัวอย่างปริมาณน้อย และแม้สภาพตัวอย่างเห็ดจะเหลือเป็นเพียงเศษซากหรือแย่แค่ไหนก็ยังใช้ตรวจวิเคราะห์ได้ ที่สำคัญต้นทุนการตรวจวิเคราะห์ต่อครั้งมีราคาถูก ทราบผลภายในไม่เกิน 30 นาที และมีความแม่นยำ

สวทช. เตือนเห็ดพิษอันตราย ภัยร้ายฤดูฝน

หากมีเคสผู้ป่วยจากการบริโภคเห็ดพิษ โดยตัวอย่างเห็ดที่ได้มาจะไม่สมบูรณ์ ก็สามารถนำเข้าเครื่องวิเคราะห์ลายพิมพ์มวลเพปไทด์ และนำผลที่ได้ไปเปรียบเทียบกับคลังข้อมูลที่จัดทำไว้ จะทราบทันทีว่าเป็นเห็ดพิษชนิดใด ซึ่งจะช่วยให้ข้อมูลกับแพทย์รักษาผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที อีกทั้งยังแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้ทราบถึงชนิดเห็ดพิษที่ต้องระวังได้ทันการณ์ ลดอัตราการเสียชีวิตจากการบริโภคเห็ดพิษได้มากขึ้น

 

นางสาวธิติยา กล่าวต่อว่า การพัฒนาคลังข้อมูลเห็ดกินได้และเห็ดพิษในประเทศไทย ไม่เพียงเป็นประโยชน์ช่วยสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขในการตรวจยืนยันชนิดเห็ดพิษที่มีการระบาดได้อย่างรวดเร็วเท่านั้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทีมวิจัยยังลงพื้นที่เก็บตัวอย่างเห็ดพิษที่มีลักษณะทางสัณฐานวิทยาที่สมบูรณ์ เพื่อนำมาวิเคราะห์ ถ่ายภาพ และรวบรวมข้อมูลลักษณะสำคัญต่าง ๆ สำหรับพัฒนาคลังข้อมูลเห็ดให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เหมาะต่อการนำไปใช้สื่อสารให้ชาวบ้านมีความรู้ความเข้าใจและเก็บเห็ดป่ามาเป็นแหล่งอาหารและรายได้อย่างปลอดภัยและยั่งยืน

 

อย่างไรก็ดีการวิเคราะห์ลายพิมพ์มวลเพปไทด์ยังใช้ตรวจจำแนกชนิดเห็ดกินได้ หากมีความต้องการยืนยันสายพันธุ์เห็ดก่อนนำไปเพาะปลูก อีกทั้งในอนาคตทีมวิจัยมีแผนขยายผลไปสู่การจัดทำคลังข้อมูลสัตว์มีพิษที่เป็นกลุ่มพิษที่วิเคราะห์จากเพปไทด์ได้เช่นเดียวกันกับเห็ดพิษ

 

ส่วนข้อควรระวังในการรับประทานเห็ดช่วงนี้ แนะนำว่าถ้าไม่มีความชำนาญในการแยกชนิดของเห็ด ไม่ควรเก็บเห็ดป่ามาบริโภคเด็ดขาด เพราะการจำแนกเห็ดจะดูเพียงหมวกหรือสีแต่ลำพังไม่ได้ ต้องดูเห็ดครบทุกลักษณะทั้งดอก ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญยืนยัน

 

นอกจากนี้ควรเลี่ยงการเก็บเห็ดที่โดนฝนชะโดยตรงซึ่งอาจชะเอาสีดอกและเกล็ดบนหมวกของเห็ดให้หลุดไปหรือทำให้ลักษณะบางอย่างของเห็ดเปลี่ยนไปได้ ที่สำคัญก่อนเก็บเห็ดหรือก่อนปรุงอาหารต้องพิจารณาเห็ดทุกดอกอย่างรอบคอบ เพราะเห็ดที่มีพิษเพียงดอกเดียวก็เสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้ ส่วนประชาชนทั่วไปควรเลือกซื้อเห็ดกับร้านค้าที่เชื่อถือได้ เลือกเห็ดที่สด และควรบริโภคทันที ไม่ควรเก็บเห็ดไว้นานเพราะอาจมีการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุให้เกิดการเจ็บป่วย