56 จังหวัดเหนือ-อีสาน– กลาง-กทม. เตรียมรับมือพายุฤดูร้อน 23-26 เม.ย.นี้

22 เม.ย. 2566 | 13:19 น.
อัปเดตล่าสุด :22 เม.ย. 2566 | 13:26 น.
504

ปภ.แจ้ง 56 จังหวัดเหนือ - อีสาน - กลาง และ กทม. เตรียมรับมือพายุฤดูร้อน ช่วงวันที่ 23 - 26 เม.ย. 66 จัดทีมปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงเพื่อเข้าเผชิญเหตุและให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 1 (111/2566) ลงวันที่ 22 เมษายน 2566 เวลา 05.00 น. แจ้งว่า บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด

ประกอบกับมีลมตะวันตกเฉียงใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ในลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าบางพื้นที่

56 จังหวัดเหนือ-อีสาน– กลาง-กทม. เตรียมรับมือพายุฤดูร้อน 23-26 เม.ย.นี้

 

โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์พายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ระหว่างวันที่ 23 - 26 เมษายน 2566 ได้แก่

- ภาคเหนือ 13 จังหวัด  ได้แก่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และอุทัยธานี

- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทุกจังหวัด

- ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร และ 23 จังหวัด ได้แก่  ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) จึงได้ประสานจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อนที่อาจเกิดขึ้นโดยกำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง และและจัดทีมปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงเพื่อเข้าเผชิญเหตุและให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที

ทั้งนี้ ให้จังหวัดแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และแจ้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนระมัดระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง

สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้ติดตามสภาพอากาศและข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น ขณะเกิดพายุฤดูร้อนให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งก่อสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง รวมถึงระวังอันตรายจากฟ้าผ่า สำหรับเกษตรกรควรป้องกันผลิตผลทางการเกษตรที่อาจได้รับความเสียหายในระยะนี้ไว้ด้วย