เปิดกฎหมาย ศรีสุวรรณ จี้ “สวนชูวิทย์” ตกเป็นสาธารณะสมบัติ

24 มี.ค. 2566 | 06:45 น.

เปิดกฎหมาย ศรีสุวรรณ จรรยา จี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ดำเนินการตามกฎหมาย “สวนชูวิทย์” ตกเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน

จากกรณี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จี้ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดำเนินการให้ “สวนชูวิทย์” ตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามกฎหมาย

จากที่ก่อนหน้านี้ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ นำที่ดินพิพาทในคดีรื้อบาร์เบียร์ ไปทำประโยชน์เป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้ รวมทั้งได้ชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้เสียหายไปบางส่วนหลังเกิดเหตุ อันเป็นเหตุให้ศาลฎีกามีคำพิพากษาแก้ เมื่อเดือนมกราคม 2559 จากจำคุก 5 ปี ให้เหลือแค่ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา

สวนชูวิทย์

นายศรีสุวรรณ ระบุว่า ในปัจจุบันบริเวณ “สวนชูวิทย์”ได้ถูกก่อสร้างกลายเป็นโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ จึงต้องการให้ผู้ว่าฯ กทม. ดำเนินการให้เกิดความชัดเจนว่า การอุทิศที่ดินของนายชูวิทย์ให้เป็นสวนสาธารณะ โดยมิได้นำไปจดทะเบียนนั้น จะถือได้ว่าที่ดินกล่าวเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามป.พ.พ.มาตรา 1304 โดยไม่จำต้องนำไปจดทะเบียนการให้ต่อเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 525 นั้น จะถือว่ามีผลโดยสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้วหรือไม่ 

นายศรีสุวรรณ จรรยา

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(ป.พ.พ.) เกี่ยวกับสาธารณสมบัติของแผ่นดิน 

มาตรา 1304 ระบุว่า 

สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดิน ซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น

  • ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืน หรือทอดทิ้ง หรือที่ดินกลับมาเป็นของแผ่นดิน ตามกฎหมายที่ดิน
  • ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เช่น ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ ทรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะเช่น ป้อม โรงทหาร สำนักราชการบ้านเมือง เรือรบ อาวุธยุทธภัณฑ์

มาตรา 1305 ระบุว่า

ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอน แก่กันมิได้ เว้นแต่มีกฎหมายเฉพาะ

มาตรา 1306 ระบุว่า  

ห้ามยกเรื่องของอายุความ เป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินใน เรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

มาตรา 1307 ระบุว่า

ห้ามไม่ให้ยึดทรัพย์สินของแผ่นดิน ไม่ว่าทรัพย์สินนั้น จะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่

มาตรา 525 ระบุว่า

การให้ทรัพย์สินซึ่งถ้าจะซื้อขายกัน จะต้องทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ในกรณีเช่นนี้ การให้ย่อมสมบูรณ์โดยไม่จำเป็นต้องมีการส่งมอบ