รัฐบาลยกระดับการดูแลลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ เพิ่มสิทธิรักษา ลาคลอด หยุดพิเศษ

21 ก.พ. 2566 | 20:30 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.พ. 2566 | 22:56 น.

รัฐบาลยกระดับการดูแลลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ ตามข้อเรียกร้องสมาพันธ์แรงงาน หลังรับฟังทุกกลุ่ม ปรับเพิ่มสิทธิการรักษา เพิ่มวันลาคลอด เพิ่มวันหยุดพิเศษ

จากกรณีข้อเรียกร้องของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ด้านสวัสดิการ และการยกระดับมาตรฐานสภาพการจ้างงาน นำมาสู่การเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง เพื่อสวัสดิการของลูกจ้างทุกกลุ่ม

ล่าสุด น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยถึงมติ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ว่า มีมติเห็นชอบหลักการร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานวิสาหกิจสัมพันธ์ 3 ฉบับ เพื่อยกระดับมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจในบางประเด็นให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยโรคโควิด-19 ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต

สาระสำคัญร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานวิสาหกิจสัมพันธ์ 3 ฉบับ

1. ร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่องมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ ..) 

  • กำหนดเพิ่มเติมให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดพิเศษตามมติ ครม. ตามความเหมาะสมและจำเป็นของกิจการ 
  • กำหนดเพิ่มสิทธิลาคลอดบุตร จากเดิม 90 วัน เป็น 98 วัน 
  • กำหนดเพิ่มเติมให้เงินทดแทนที่นายจ้างจะต้องจ่ายให้ลูกจ้างกรณีประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหายเนื่องจากการทำงาน ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี

2. ร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง หลักเกณฑ์การจ่ายค่าทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ และค่าทดแทนการตายอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน 

  • กำหนดเพิ่มเติมให้ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป และถึงแก่ความตายอันมิใช่เนื่องจากการทำงานในปีที่จะเกษียณอายุมีสิทธิได้รับค่าทดแทนในอัตราเดียวกันกับเงินที่จะได้รับกรณีเกษียณ 
  • กำหนดให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนดังกล่าวกรณีที่ลูกจ้างตายด้วยเหตุละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร, กระทำความผิดอาญาโดยเจตนา, เสพของมึนเมาหรือสิ่งเสพติดอื่น, ฆ่าตัวตาย

3. ร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต  เป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยโรคโควิด 19 ให้สอดคล้องกับสิทธิ UCEP ตามมติ ครม. วันที่ 8 มีนาคม 2565 

กำหนดให้ลูกจ้างที่เป็นผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่มีลักษณะเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต หมายถึงผู้ป่วย กลุ่มสีเหลืองและสีแดง มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลสำหรับตนเอง หรือคู่สมรส หรือบุตรของตนเอง ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด (สิทธิ UCEP) ส่วนในกรณีที่ไม่เข้าลักษณะผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต หรือ ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ให้มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนด