PM 2.5 ยังหนัก กนอ.วางมาตรการเข้มคุม มาบตาพุด

05 ก.พ. 2566 | 13:19 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.พ. 2566 | 13:29 น.

สถานการณ์ PM 2.5 ยังหนัก ล่าสุด กนอ.วางมาตรการเข้มคุม มาบตาพุด พร้อมเฝ้าระวัง ติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม สร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชน

จากปัญหาค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ที่พบในพื้นที่ 53 จังหวัด ทุกภูมิภาคของประเทศไทย จนมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน รวมทั้งตัวเลขผู้ป่วยทางเดินหายใจจากสำนักอนามัย กทม. พบว่าเพิ่มขึ้นวันละ 25 คน มีอาการระคายเคืองตา เกิดโรคผิวหนัง โรคทางเดินหายใจ ตามมานั้น

ล่าสุดการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้วางมาตรการเพิ่มเติมตามแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษมาตั้งแต่ปี 2549 พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (EMCC) ในพื้นที่มาบตาพุด เพื่อการบริหารจัดการ เฝ้าระวัง ติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม และประชาสัมพันธ์ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชน

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ระบุว่า ปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 ล่าสุดขอให้ทุกฝ่ายอัพเดตสถานการณ์ รวมทั้งประเมินสภาพแวดล้อมรอบตัว และหาแนวทางป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 เพื่อความปลอดภัยของทั้งพนักงานในโรงงาน และชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ กนอ. กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องส่งแผนการซ่อมบำรุง รวมถึงการจัดการกากของเสีย น้ำเสีย มาตรการควบคุมการปล่อย หรือการระบายสารเคมีสู่บรรยากาศ และมาตรการในการควบคุมหอเผาก๊าซด้วย เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566

ส่วนกรณีที่มีการรายงานว่า ในพื้นที่มาบตาพุดพบสารก่อมะเร็งในพื้นที่สูงเกินค่ามาตรฐาน-อันตรายต่อสุขภาพจากการปล่อยสารอินทรีย์ระเหยง่ายนั้น จากการตรวจสอบพบว่า รายงานดังกล่าวเป็นข้อมูลงานวิจัยอุบัติการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทยในช่วงปี 2557-2560 ที่จังหวัดระยองมีอัตราการเกิดโรคมะเร็งสูง ซึ่งข้อมูลยังไม่เป็นปัจจุบัน

ทั้งนี้พื้นที่จังหวัดระยอง มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ทั้งในเขตควบคุมมลพิษ บริเวณพื้นที่กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอตะวันออก (มาบตาพุด) นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย นิคมอุตสาหกรรมผาแดง และนิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล

ส่วนนอกเขตควบคุมมลพิษ บริเวณเขตประกอบการไออาร์พีซี นอกจากนี้ ยังมีสถานีเก็บตัวอย่างของ กนอ. ในพื้นที่ชุมชน จำนวน 8 สถานี และในพื้นที่นิคมฯ 7 สถานี