"ตัดแต้มใบขับขี่" สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พร้อมด้วย กรมการขนส่งทางบก (ขส.) , ธนาคารกรุงไทย (KTB) , บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ประสานมือเอาจริง ป้องกันการกระทำผิดกฎจราจรซ้ำซาก ด้วยการนำระบบบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถ หรือระบบตัดแต้ม มาบังคับใช้ ภายใต้สโลแกน "มุ่งเน้นการสร้างวินัยการขับขี่ปลอดภัย ให้โอกาสแก้ไขไม่กระทำผิดซ้ำ สร้างความเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย และเป็นมาตรฐานสากล"
ตัดแต้มใบขับขี่ จะมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่
- ระบบบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถ หรือระบบตัดแต้มใบขับขีจะ บังคับในวันที่ 9 มกราคม 2565
รู้จักระบบตัดแต้มใบขับขี่
- ผู้มีใบขับขี่ มีคะแนนความประพฤติคนละ 12 คะแนน (ไม่ว่าจะมีใบอนุญาตขับขี่กี่ชนิดก็ตาม
- หากทำผิดกฎจราจร จะถูกตัดคะแนนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ จากฐานข้อมูลใบสั่ง PTM ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ดังนี้
- ตัด 1 คะแนน เช่น ขับรถเร็วเกินกำหนด ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ไม่หยุดให้คนข้ามทางม้าลาย ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ
- ตัด 2 คะแนน เช่น ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร (ฝ่าไฟแดง)
- ตัด 3 คะแนน เช่น ขับรถชนแล้วหนี
- ตัด 4 คะแนน เช่น เมาแล้วขับ ขับรถในขณะเสพยาเสพติด
การตัดแต้มใบขับขี่มีบทลงโทษอย่างไร
- เมื่อถูกตัดแต้ม จนเหลือ 0 คะแนน จะถูกสั่งพักใช้ใบขับขี่ หรือห้ามขับรถ (ทุกประเภท) เป็นเวลา 90 วัน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้มีหนังสือแจ้งคำสั่งดังกล่าว
- หากถูกสั่งพักใช้ใบขับขี่เป็นครั้งที่ 3 ภายใน 3 ปี อาจจะถูกสั่งพักใช้มากกว่า 90 วัน
- หากถูกสั่งพักใช้ใบขับขี่อีก เป็นครั้งที่ 4 อาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
- หากฝ่าฝืนไปขับรถในขณะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 156
หลักเกณฑ์การคืนคะแนน
- คืนคะแนนอัตโนมัติ เมื่อครบกำหนด 1 ปี นับแต่วันกระทำผิดครั้งนั้นๆ เว้นแต่เป็นกรณีที่ถูกตัดเหลือ 0 คะแนน จะได้รับคืนเมื่อพ้นกำหนดเวลาการสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ โดยได้รับคืนเพียง 8 คะแนน
- คืนคะแนนโดยวิธีการเข้ารับการอบรมกับกรมการขนส่งทางบกอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งมี 2 กรณี
- กรณีที่คะแนนเหลือน้อยกว่า 6 คะแนน สามารถขอเข้ารับการอบรมจากกรมการขนส่งทางบกได้ (อบรมได้เพียงปีละ 2 ครั้ง)
- กรณีที่ถูกตัดคะแนนจนเหลือ 0 คะแนน และต้องการคะแนนกลับคืนมาทั้งหมด 12 คะแนน สามารถขอเข้ารับการอบรมจากกรมการขนส่งทางบกได้ เมื่อผ่านการอบรมตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขจะได้รับคืนคะแนนตามที่กำหนด
โดยผู้ประสงค์เข้ารับการอบรมและทดสอบเพื่อขอคืนคะแนน สามารถแจ้งความประสงค์พร้อมหลักฐานใบอนุญาตขับขี่หรือบัตรประจำตัวประชาชน ณ กรมการขนส่งทางบก สำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบก (อาคาร 8) หรือ สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-4 หรือสำนักงานขนส่งจังหวัดทุกจังหวัด
ช่องทางการตรวจสอบคะแนนใบขับขี่
- เว็บไซต์ E-Ticket PTM ซึ่งพัฒนาโดยธนาคารกรุงไทยสามารถตรวจสอบใบสั่งค้างชำระ จ่ายค่าปรับ ตรวจสอบคะแนนความประพฤติ และตรวจสอบสถานะใบขับขี่
- แอปพลิเคชัน ขับดี (KHUB DEE) ซึ่งพัฒนาโดย NT เพื่อให้บริการข้อมูลข่าวสาร และตรวจสอบใบสั่งค้างชำระ และคะแนนความประพฤติ และดำเนินการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขับขี่อันเป็นประโยชน์ต่างๆ ที่ทันสมัย
- แอปพลิเคชัน เป๋าตัง ให้บริการชำระค่าปรับผ่านระบบออนไลน์