คณะอนุกมธ. สภาผู้แทนฯ จวกการควบคุมยาสูบ -บุหรี่ไฟฟ้า ล้มเหลวทุกด้าน

26 พ.ย. 2565 | 15:16 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ย. 2565 | 22:16 น.

คณะอนุกมธ. สภาผู้แทนฯ จวกการควบคุมยาสูบ -บุหรี่ไฟฟ้า ล้มเหลวทุกด้าน ชี้มีการเติบโตขึ้นของตลาดบุหรี่ลักลอบนำเข้า และ ตลาดบุหรี่ไฟฟ้า

นายแพทย์เอกภพ เพียรพิเศษ รองประธานคณะอนุกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อระบบสุขภาพ และติดตามการบังคับใช้กฎหมายด้านการสาธารณสุข ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาข้อร้องเรียนจากสื่อมวลชนที่ถูกคุกคามเสรีภาพการเสนอข่าวเกี่ยวกับบุหรี่ ด้วยการตีความกฏหมาย พ.ร.บ.ควบคุมยาสูบ ในเรื่องการโฆษณาที่กว้างเกินกว่าที่ตัวบทกฏหมายกำหนด ด้วยการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่เรียกสื่อมวลชนเข้าพบ หรือบางกรณีก็ถึงขั้นส่งดำเนินคดีก็มี 

 

และอีกเรื่องที่สำคัญ คือ การจับกุมผู้ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า ตามที่เป็นข่าวหลายครั้ง ซึ่งทางอนุกรรมาธิการได้เคยมีการประชุมวาระประเด็นนี้โดยเชิญผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดมาพิจารณาข้อกฏหมายร่วมกันได้ข้อสรุปว่า 

"บุหรี่ไฟฟ้า" ถือเป็นของต้องห้ามตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ และมีประกาศคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเรื่องการห้ามจำหน่าย จ่าย แจก ให้บริการ แต่สำหรับผู้ครอบครองนั้น ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร ฉบับเดิม มีมาตรา 27ทวิ เขียนถึงความผิดเกี่ยวกับการครอบ ครอง การรับไว้ การเอาไปเสียซึ่งของต้องห้าม 

 

แต่ในพ.ร.บ.ศุลกากร 2560 ได้ตัดมาตราเดิมนั้นออก และในส่วนของการลักลอบสินค้าที่ไม่ผ่านพิธีการศุลกากร นั้น ตามาตรา 242, 246 ไม่ได้กล่าวถึงของต้องห้าม โดยใจความเป็นการเอาผิดกับของที่ลักลอบหนีภาษีไม่ผ่านพิธีการศุลกากร สรุปคือ เจ้าพนักงานตำรวจจะตั้งข้อกล่าวหาผิด พ.ร.บ.ศุลกากร กับผู้ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ จะถือว่าเป็นการตั้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีโดยมิชอบ 

 

คณะอนุกมธ. สภาผู้แทนฯ จวกการควบคุมยาสูบ -บุหรี่ไฟฟ้า ล้มเหลวทุกด้าน

นายแพทย์เอกภพ กล่าวอีกว่า ในส่วนของผลการศึกษาของอนุกรรมาธิการ ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า การดำเนินการด้านการควบคุมยาสูบควรต้องมีการทบทวนทั้งในส่วนของการดำรงตำแหน่งของกรรมการควบคุมยาสูบแห่งชาติโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งทางอนุกรรมาธิการได้ส่งเรื่องกรณีคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่ง และกรณีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ให้กรรมาธิการ ปปช. สอบหาข้อเท็จจริงต่อไปแล้ว

 

อีกทั้งต้องมีการทบทวนเรื่องข้อมูลทางวิชาการที่นำมาใช้อ้างอิงที่ต้องเป็นไปตามหลักการที่ถูกต้องเชื่อถือได้ เพราะเมื่อพิจารณาข้อมูลทางวิชาการในต่างประเทศ พบข้อมูลทางวิชาการที่มีความน่าเชื่อถือสูง เช่น Cochrane review ได้รวบรวมทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบแล้วได้ข้อสรุปว่า บุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้เลิกบุหรี่มวนได้มีประสิทธิภาพกว่าการใช้นิโคตินทดแทนแบบเดิม อย่างหมากฝรั่ง แผ่นแปะ 

มีข้อมูลเกี่ยวกับโรคหัวใจว่าผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีอัตราการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจน้อยกว่าผู้สูบบุหรี่มวน ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีสารบ่งชี้เกี่ยวกับโรคหัวใจหลอดเลือด โรคมะเร็ง น้อยกว่าผู้สูบบุหรี่มวน ดังนั้นจึงควรมีทางเลือกให้กับผู้สูบบุหรี่เกือบสิบล้านคนได้มีโอกาสเลือก และมีทางใหม่ในการเลิกบุหรี่

 

“จะเห็นว่าการแบนบุหรี่ไฟฟ้าที่ทำไม่ได้จริง มีการเติบโตของตลาดอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาไม่ได้เป็นการปกป้องเยาวชนเลย แต่กลับทำให้เยาวชนเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าแบบควบคุมไม่ได้ แถมยังทำให้ตลาดบุหรี่ผิดกฏหมายโตมากจนนับวันจะยิ่งจัดการยากขึ้นเรื่อยๆ"

 

นอกจากเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า การจัดการลดการสูบบุหรี่ด้วยมาตรการทางภาษีก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ปล่อยให้บุหรี่ต่างประเทศกินตลาดบุหรี่ของการยาสูบไทย และปล่อยให้บุหรี่ลักลอบหนีภาษีกินส่วนแบ่งการตลาด จนทำให้การยาสูบไทยที่เคยมีกำไรหลายพันล้านบาท เหลือแค่สองสามร้อยล้านบาทเพียงระยะเวลาแค่ 5-6 ปี ส่งผลไปถึงชาวไร่ยาสูบหลายแสนครอบครัวต้องถูกลดโควต้าเพาะปลูก 

 

รวมถึงจะมีความพยายามเสนอให้แบนส่วนประกอบในบุหรี่ เช่น เมนทอล ที่นักสูบไทยเกินครึ่งสูบบุหรี่ที่มีรสชาติแบบนี้ แทนที่จะทำให้เลิกบุหรี่ก็ยิ่งจะทำให้ตลาดบุหรี่ลักลอบหนีภาษี และตลาดของบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฏหมายเติบโตขึ้นไปอีก 

 

จำนวนผู้สูบบุหรี่ก็ไม่ลด อีกทั้งรัฐยังเสียรายได้หลายพันล้านให้กับธุรกิจผิดกฏหมาย ดังนั้น ถึงเวลาที่จะต้องปรับแนวทาง วิธีคิด และบุคคลในการควบคุมยาสูบเสียใหม่ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป หากกรรมาธิการพิจารณาแล้วเสร็จ จะมีการสรุปเป็นรูปเล่มเผยแพร่ให้กับสื่อมวลชนไปถ่ายทอดต่อไป